Saturday, June 4, 2011

iPad or Android

ด้วยไปเจอบทความดีๆ ที่เขียนถึงแท๊บเล็ตเปรียบเทียบทั้งสองระบบ ระหว่างไอแพดที่ใช้ระบบปฏิบัติการ iOS กับแท็บเล็ตอื่นที่ใช้ระบบปฏิบัิิติการ Android ได้ดี ละเอียดให้ความรู้ เพื่อความเข้าใจได้อย่างถูกต้อง เลยคัดลอกมาให้อ่านกัน
จาก ผู้จัดการออนไลน์ หมวด CyberBiz หน้า Cyber Weedend
วันที่ 4 มิถุนายน 2554 20:14 น.
สุภาษิตโบราณที่ว่า 'ไก่ได้พลอย' คงเข้ากับยุคสมัยนี้ที่ 'แท็บเล็ต' ครองเมือง ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ผู้ใช้จำนวนมากหันมาเลือกซื้อแท็บเล็ตแบบไม่ตั้งใจ เพียงเพราะต้องการตามกระแสที่กำลังมาแรง ทั้งที่ยังงงๆ ว่า ซื้อมาแล้วจะใช้ประโยชน์อะไร และไม่เข้าใจถ่องแท้ว่า แท็บเล็ตนี้ผู้ผลิตสร้างมาเพื่อจุดประสงค์อะไรกันแน่
      
       แรงไม่แรงดูได้จากแถวของผู้คนที่ยืนขาแข็ง นั่งจับเจ่าหลายชั่วโมง เพื่อจะได้เป็นเจ้าของ 'ไอแพด2' เรือนหมื่นกว่าบาท แค่วันเดียวขายเกลี้ยง 4,000 เครื่องภายในไม่กี่ชั่วโมง ไม่นับเครื่องในตลาดเกรย์มาร์เก็ต (ตู้ขายมือถือทั่วไป) ที่แต่ละร้านขายได้ไม่ต่ำกว่า 10-20 เครื่องในแต่ละวัน ทั้งที่แพงกว่าก็ยอมจ่าย ยังไม่รวมถึงแท็บเล็ตแบรนด์จีนแดง แบรนด์เกาหลีอีกหลายรุ่นที่ทำยอดขายได้งดงามไม่แพ้กัน ถือเป็นการการันตีความนิยมของแท็บเล็ตได้เป็นอย่างดี
      
       จนทำให้เกิดเป็นกระแส "แท็บเล็ตฟีเวอร์" เช่นเดียวกับแฟชันเสื้อผ้าที่ใครไม่ซื้่อไว้ใช้มีโอกาสเชย ตกเทรนด์ ได้
      
       น้ำหนักเบา ขนาดเล็กพกพาสะดวก เป็นเหตุผลหนึ่งของผู้ที่มีแท็บเล็ตในครอบครอง แต่ต้องทำอย่างไร ถึงทำให้ใช้ประโยชน์ของแท็บเล็ตได้เต็มประสิทธิภาพ ไม่ใช่แค่เห่อตามแฟชั่น ชั่วโมงนี้ ตัวเลือกที่น่าสนใจมี 2 ค่ายให้เลือกระหว่างไอแพด กับ แอนดรอยด์
      
       **ฮาร์ดแวร์แตกต่าง
      
       แท็บเล็ตที่ถือเป็นหัวหอกในตลาดปัจจุบันมีอยู่ 2 พวก 2 ค่าย ได้แก่ ค่ายแอปเปิลที่ส่งไอแพดเข้าประกวด โดยมีคู่แข่งรายสำคัญ คือ แอนดรอยด์ ของค่ายกูเกิลที่พัฒนาซอฟต์แวร์ ส่วนฮาร์ดแวร์จับมือกับผู้พัฒนาด้านฮาร์ดแวร์อีก 36 รายในการผลิตฮาร์ดแวร์ออกมาวางขาย
      
       ไอแพด เป็น แท็บเล็ตที่แอปเปิลผูกขาดในเกือบทุกเรื่อง เป็นทั้งผู้ผลิต กำหนดราคา กำหนดวิธีการทำตลาด กำหนดทุกสิ่ง แตกต่างจากแอนดรอยด์ที่กูเกิลสร้างขึ้นมา แล้วให้บรรดาผู้ผลิตฮาร์ดแวร์สามารถนำไปปรับแต่งใช้ตามความเหมาะสม ทำให้แท็บเล็ตแอนดรอยด์มีระดับราคาไล่ตั้งแต่ต่ำไปสูง ตามประสิทธิภาพและออปชัน ผิดกับไอแพดที่ตั้งราคาขายในระดับเดียว ซึ่งอาจจะสูงแต่เมื่อดูจากนวัตกรรมที่ใส่มาถือว่า คุ้ม
      
       **ต่างโอเอส ต่างการใช้งาน
      
       ส่วนโอเอสหรือส่วนระบบปฏิบัติการทั้งไอแพด แอนดรอยด์แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดยแอปเปิลจะเลือกใช้ระบบปฏิบัติการ ไอโอเอส (iOS) เป็นตัวขับเคลื่อนหลัก ในขณะที่กูเกิลพัฒนาแอนดรอยด์ 3.0 ซึ่งเป็นเวอร์ชันแท็บเล็ตโดยเฉพาะ ใช้โค้ดเนมว่า 'Honeycomb' 
      
       ไอโอเอส เป็นระบบปฏิบัติการที่แอปเปิลเป็นผู้พัฒนา และนำมาใช้บนอุปกรณ์ไอโอเอสของแอปเปิลทั้งไอแพด ไอโฟน และไอพอด ทัช จุดเด่นอยู่ที่หน้าตาอินเตอร์เฟสใช้งานง่าย ไม่ซับซ้อน เน้นความหรูหราด้วยเอฟเฟ็กต์การเข้าใช้งานแอปพลิเคชันที่สวยงาม แต่ต้องแลกมาด้วยการเป็นระบบปิด ไอโอเอสผูกติดกับฮาร์ดแวร์ที่แอปเปิลเป็นผู้ผลิตเท่านั้น อีกทั้งยังไม่อนุญาตให้ผู้ใช้ทั่วไปนำชุด SDK มาพัฒนาแอปพลิเคชันเองได้อย่างอิสระ รวมถึงการเชื่อมต่อทุกสิ่งอย่าง ไม่ว่าจะเป็นแอปพลิเคชัน เพลง หรือวิดีโอ ส่วนใหญ่ต้องทำผ่านไอจูนเท่านั้น ไม่สามารถคัดลอกหรือย้ายไฟล์แบบอิสระได้เหมือนแท็บเล็ตแบรนด์อื่น
      
       ส่วน แอนดรอยด์ 3.0 เป็นระบบปฏิบัติการระบบเปิด ทำให้ผู้ผลิตแท็บเล็ตแบรนด์ต่างๆ นำไปติดตั้ง ปรับแต่งให้เข้ากับฮาร์ดแวร์ที่ผู้ผลิตแท็บเล็ตแต่ละแบรนด์ต้องการได้ นอกจากนั้น ในตัวระบบปฏิบัติการยังสามารถจัดการไฟล์ทั้งจากภายนอกและภายในได้อย่างอิสระ เป็นผลให้แท็บเล็ตที่ใช้โอเอส แอนดรอยด์ในตลาดมีวางจำหน่ายอยู่หลายรุ่น หลายแบรนด์และหลายประสิทธิภาพให้ผู้ใช้ได้เลือกตามกำลังทรัพย์และความต้องการของตน
      
       **ระบบปิด-ระบบเปิด มีผล
      
       เรื่องระบบปิด-ระบบเปิดถูกพูดถึงอย่างมากในวงการสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต เนื่องจากความโด่งดังของไอโอเอสที่ขึ้นชื่อเรื่องระบบปิด จนทำให้ผู้ใช้หน้าใหม่หลายคนเกิดความไม่พอใจในเรื่องการใช้งานที่ค่อนข้างยุ่งยาก ความจริงแล้วระบบปิดของแอปเปิลได้ถูกนำมาใช้บนอุปกรณ์ไอโอเอสแทบทุกตัว เพราะเป็นการป้องกันเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ได้ดีที่สุด เนื่องจากการโอนถ่ายไฟล์ต่างๆ จะถูกทางโปรแกรมไอจูนกำหนดไว้ว่าจะสามารถโอนถ่ายไฟล์ประเภทใดได้บ้าง ซึ่งผู้ใช้ไม่สามารถเปิดไดร์ฟข้อมูลแล้วจับไฟล์เอกสารต่างๆ คัดลอกลงไปได้แบบแฟลชไดร์ฟหรือระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ซึ่งเป็นระบบเปิดได้
      
       ที่สำคัญคือ เรื่องบัญชีผู้ใช้และระเบียบการดาวน์โหลด การดาวน์โหลดบนแอปสโตร์ที่เป็นระบบปิดจะต้องมีการสมัครสมาชิกถึงจะใช้งานได้ ส่วนการติดตั้งแอปพลิเคชันจะถูกจำกัดเฉพาะบัญชีของแต่ละคนเท่านั้น ถ้าใครนำอุปกรณ์ไอแพดไปเชื่อมต่อเพื่อคัดลอกแอปพลิเคชัน รวมถึงเพลย์ลิสต์เพลง รูปภาพ มาจากเพื่อน อาจมีผลให้ข้อมูลบางส่วนของตัวเองถูกลบออกและถูกแทนที่ด้วยบัญชีและแอปพลิเคชันของเพื่อนทันที
      
       ในขณะที่ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ที่ถือเป็นระบบเปิดจึงไม่มีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น เพราะการติดตั้งแอปพลิเคชันจะทำได้อย่างอิสระและยืดหยุ่นกว่าไอโอเอส แถมยังสามารถใช้งานเก็บข้อมูลแทนแฟลชไดร์ฟได้ด้วย
      
       **แอปพลิเคชันคือไม้ตายสำคัญ
      
       พูดถึงแอปพลิเคชันหรือเรียกสั้นๆ ว่า แอปฯ ปัจจุบันถือเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญในการเลือกซื้อแท็บเล็ตอย่างมากโดยเฉพาะคนที่ต้องการนำแท็บเล็ตมาใช้งานอย่างจริงจัง ใครที่มีจำนวนแอปฯ ในสโตร์มากและน่าสนใจกว่าย่อมดึงดูดใจผู้บริโภคได้มากกว่าแท็บเล็ตที่มีแอปฯ ในสโตร์ที่น้อยกว่า
      
       หากเปรียบเทียบจำนวนแอปฯ และความน่าสนใจของแท็บเล็ตยอดนิยมทั้ง 2 แบรนด์จะพบว่า ในส่วนของไอโอเอสจากแอปเปิลที่ใช้แอปสโตร์ เป็นตลาดในการซื้อขายแอปฯ บนไอแพด จะมีจำนวนแอปฯ ที่รองรับเฉพาะไอแพดทั้งสิ้นประมาณ 65,000 - 70,000 ตัว ในขณะที่แอนดรอยด์ 3.0 จากกูเกิลที่ใช้ 'มาร์เก็ต' เป็นตลาดซื้อขายแอปฯ จะมีแอปฯ ที่รองรับกับแอนดรอยด์ 3.0 จริงๆ อยู่ประมาณแค่หลักร้อยหลักพันเท่านั้น
      
       และหากแยกเรื่องความน่าสนใจในตัวแอปฯ จะเห็นอย่างชัดเจนว่าด้วยจำนวนแอปฯ ในสโตร์ที่มากของแอปเปิล ส่งผลให้ผู้ใช้ที่ต้องการแท็บเล็ตมาใช้งานอย่างจริงจัง เช่น ต้องการนำไปใช้งานในการทำดนตรีหรือนำไปใช้ทำงานออฟฟิศ ตกแต่งภาพ จะมีตัวเลือกในการใช้งานแอปฯ ได้หลากหลายและตรงตามความต้องการมากกว่า
      
       ในขณะที่แอปฯ บนมาร์เก็ตในแอนดรอยด์ 3.0 จะเน้นแอปฯ ทำงาน พิมพ์เอกสาร เครือข่ายสังคม และเกมแนวฆ่าเวลาโดยปราศจากแอปฯ ที่สามารถใช้ทำงานเฉพาะทาง เช่น สร้างดนตรีหลายแทร็คหรือตกแต่งภาพระดับสูง อย่างสิ้นเชิง ข้อดีของแอนดรอยด์เมื่อนำไปใช้ทำงาน นอกจากเรื่องของแอปฯ ทำงานเอกสารแล้ว ในส่วนของการรองรับแฟลชถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้แอนดรอยด์สามารถใช้ทำงานและเล่นเว็บไซต์ได้สมบูรณ์กว่าไอโอเอสจากแอปเปิลที่รองรับแต่ HTML5 อย่างเดียว
      
       **ออปชันเสริมไม่เท่ากัน
      
       ปัจจุบันเรื่องของอุปกรณ์เสริมและพอร์ตเชื่อมต่อถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยสร้างภาพลักษณ์ของแท็บเล็ตให้ดูน่าใช้มากยิ่งขึ้น เพราะผู้ใช้แท็บเล็ตจำนวนมากเลือกซื้ออุปกรณ์เหล่านี้มาเพื่อต้องการใช้ทำงานเป็นหลัก เพราะฉะนั้นเรื่องของพอร์ตเชื่อมต่อและอุปกรณ์เสริมต่างๆ จึงถือเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง
      
       แท็บเล็ตจากแอนดรอยด์ได้เปรียบมากในจุดนี้ เพราะกูเกิลไม่ได้ผูกมัดผู้ผลิตในการผลิตฮาร์ดแวร์ต่างๆ ทำให้ผู้ผลิตเหล่านั้นสามารถเลือกใส่อุปกรณ์เสริมหรือพอร์ตเชื่อมต่อต่างๆ ลงบนตัวแท็บเล็ตได้อย่างอิสระ ดังจะเห็นได้จาก แท็บเล็ตแอนดรอยด์ส่วนใหญ่จะมาพร้อมพอร์ตเชื่อมต่อ HDMI เพื่อใช้เชื่อมต่อกับทีวีความละเอียดสูง หรือแม้แต่การติดตั้งพอร์ต USB มาบนแท็บเล็ตเพื่อไว้ใช้เชื่อมต่อกับอุปกรณ์เสริมต่างๆ ได้
      
       แต่สำหรับแท็บเล็ตจากฝั่งแอปเปิลอย่างไอแพด ซึ่งด้วยแนวคิดการออกแบบมาให้การใช้งานเรียบง่ายและต้องการให้การเชื่อมต่อต่างๆ สามารถทำได้ด้วยการเชื่อมต่อแค่พอร์ตเดียว ทำให้เมื่อผู้ใช้ต้องการเลือกพอร์ตใช้งานอื่นๆ นอกเหนือจากช่อง 30 พิน เช่น USB หรือ HDMI จำเป็นต้องเสียเงินซื้ออุปกรณ์เสริมมาใช้ตามการใช้งานที่ต้องการ อีกทั้งด้วยการที่อุปกรณ์เสริมเหล่านั้นต้องเชื่อมต่อผ่านช่อง 30 พินเท่านั้น ทำให้การสลับใช้พอร์ตและอุปกรณ์เสริมอื่นๆ ไม่สามารถทำได้บนไอแพด
      
       **ใช้อะไร เลือกอย่างนั้น
      
       แท็บเล็ตแต่ละตัวมีการทำงานที่แตกต่างกัน เช่น แท็บเล็ตที่ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ส่วนใหญ่จะเหมาะกับผู้ที่เน้นการทำงาน ใช้เปิดเว็บไซต์ อัปโหลดบทความขึ้นเว็บ และเน้นเรื่องของเครือข่ายสังคมเป็นหลักมากกว่าเรื่องเล่นเกมที่เป็นรองลงมา เนื่องจากตัวระบบปฏิบัติการสามารถรองรับแฟลชและมีการติดตั้งพอร์ตเชื่อมต่อมาให้อย่างครบครัน ทำให้ความสามารถในการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์เสริมอย่างคีย์บอร์ด หรือการเชื่อมต่อช่องส่งสัญญาณภาพแบบความละเอียดสูง (HDMI) สามารถทำได้อย่างง่ายดาย
      
       ในส่วนแท็บเล็ตจากแอปเปิลอย่างไอแพดจะเหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับผู้ใช้งานที่ต้องการความหรูหรา ไม่สนใจเรื่องจุกจิกอย่างปัญหาการซิงค์แอปฯ และยอมรับในเรื่องของระบบปิด รวมถึงชื่นชอบและจำเป็นต้องใช้งานแอปฯ เฉพาะทางหรือเป็นขาเกมระดับฮาร์ดคอร์เป็นหลัก เพราะด้วยจำนวนแอปฯ ที่มากกว่าแอนดรอยด์แท็บเล็ตทำให้การใช้งานในส่วนของแอปฯจะทำได้หลากหลายกว่ามา
      
       สุดท้าย ไม่ว่าแอปเปิลไอแพดหรือกูเกิลแอนดรอยด์ แท็บเล็ตทุกตัวมีคุณค่าในตัวเองแทบทั้งสิ้นอยู่ที่ว่าผู้ใช้จะมองเห็นคุณค่า-ข้อดีเสียของแท็บเล็ตตัวไหนมากกว่ากัน จงพยายามตัดเรื่องตามแฟชั่นและข้ออคติออกไป พร้อมมองถึงเหตุผลและใช้ความต้องการที่แท้จริงเป็นตัวเลือกซื้อจะดีที่สุด
      
       ***ข้อควรรู้หากใข้แท็บเล็ต***
      
       1. บัตรเครดิตสำคัญเมื่อซื้อแอปฯ
      
       เป็นเรื่องที่ผู้อยากใช้แท็บเล็ตให้เต็มประสิทธิภาพต้องอ่านอย่างยิ่ง เพราะไม่ว่าจะเป็นมาร์เก็ตของแอนดรอยด์หรือแอปสโตร์ของแอปเปิล ถ้าผู้ใช้แท็บเล็ตอยากใช้งานให้คุ้มค่าและเต็มประสิทธิภาพจริงๆ การซื้อแอปฯ มาใช้งานก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ถึงแม้จะมีแอปฯ ฟรีให้เลือกดาวน์โหลดก็ตาม
      
       เพราะฉะนั้น คนที่คิดจะซื้อแท็บเล็ตควรต้องเตรียมบัตรเครดิตให้พร้อมเพื่อไว้จับจ่ายสินค้าในสโตร์ ส่วนถ้าใครเงินเดือนยังไม่สามารถทำบัตรเครดิตได้ ก็สามารถใช้บริการบริการบัตรเคดิตเสมือน อย่างบริการ K-Web Shopping Card ของธนาคารกสิกรได้เช่นกัน
      
       2. แท็บเล็ตแทนแล็ปท็อปไม่ได้ทั้งหมด
      
       เชื่อว่าหลายคนคงตั้งความหวังไว้สูงว่าอุปกรณ์อย่างแท็บเล็ตจะสามารถทำงานแทนแล็ปท็อปได้แบบสมบูรณ์ เนื่องจากแอปฯ ที่มีให้ดาวน์โหลดอย่างมากมายตามการใช้งาน แต่ถึงอย่างไรข้อจำกัดของแท็บเล็ตในปัจจุบันก็ยังมีอยู่ โดยเฉพาะเรื่องความยืดหยุ่นในการทำงานเฉพาะทาง
      
       ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือการตัดต่อวิดีโอความละเอียดสูงมากๆ ซึ่งจำเป็นต้องพึ่งพาหน่วยประมวลผลที่เร็วกว่าแท็บเล็ตปัจจุบันจะรองรับ หรือเรื่องของซอฟต์แวร์ใช้งานทั่วไปส่วนใหญ่จะยังไม่รองรับกับระบบแท็บเล็ต จนถึงระบบสัมผัสหน้าจอที่อาจเป็นปัญหาในการใช้งานเพราะคนส่วนใหญ่ชินกับการใช้เมาส์ควบคู่คีย์บอร์ดมากกว่า
      
       ถ้าให้มองว่าแท็บเล็ตจะสามารถเข้ามาแทนที่แล็ปท็อปโดยสมบูรณ์ได้หรือไม่ คำตอบที่ได้คงอยู่ที่คำว่าไม่ แต่ถึงอย่างไรแท็บเล็ตก็สามารถใช้งานแทนเน็ตบุ๊ก สำหรับการพกพาไปนอกสถานที่ พิมพ์งานเล็กๆ น้อยๆ รวมไปถึงความสามารถในการใช้งานแอปฯเฉพาะทางระดับเบื้องต้น เช่น การทำเพลง เล่นเกม 3 มิติ ตกแต่งรูปภาพ ตัดต่อวิดีโอความละเอียดไม่สูงมากพร้อมอัปโหลดขึ้นเครือข่ายสังคมที่เน็ตบุ๊กยังตอบสนองตรงจุดนี้ได้ไม่ดีนัก

ก็หวังว่าผู้อ่านคงจะได้รับความรู้ความเข้าใจในระบบของแท๊บเล็ตที่แตกต่างกันทั้งสองระบบกันแล้ว
และสามารถเลือกซื้อได้ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ตามความต้องการของแต่ละคน

     

No comments:

Post a Comment