Friday, March 11, 2016

เส้นทางการพัฒนาเทคโนโลยีจรวดของไทย

โครงการพัฒนาจรวดของไทยนั้นมีการศึกษาวิจัยโดยกองทัพอากาศตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2517 และจรวดของไทยนัดแรกได้ถูกยิงจากเครื่องบินบ.ต.2(O1-A) ซึ่งก็คือ จรวดเห่าฟ้า-1 ทำการทดสอบยิงจากอากาศสู่พื้นเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ.2518 และนั้นก็คือจุดเริ่มต้นตำนานจรวดเห่าฟ้า-เห่าไฟ ของไทย
จรวดเห่าฟ้ามีรุ่นย่อยต่างๆ ดังนี้
  • เห่าฟ้า-1
    จรวดขนาด 2.25 นิ้ว แบบหางเลื่อน
เห่าไฟ-1 หาเลื่อน
  • เห่าฟ้า-2
    จรวดขนาด 2.25 นิ้ว แบบหางนิ่ง ลำตัวหมุน
    ผ่านการรับรองมาตรฐานระบบอาวุธของ ทอ. ในปีพ.ศ.2521
  • เห่าฟ้า-3
    จรวดขนาด 2.25 นิ้ว แบบหางพับ
    ผ่านการรับรองมาตรฐานระบบอาวุธของ ทอ. ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2527

  • เห่าฟ้า-3 ไอ
    ในปีพ.ศ.2528 ทอ. มีวัสดุสำหรับการหุ้มดินขับจรวด และมีเทคโนโลยีในการหุ้ม (Inhibit) ดินขับ จึงได้ทำการพัฒนาจรวดเห่าฟ้า-3 เป็นจรวดเห่าฟ้า-3 ไอ (Inhibited) ซึ่งจรวดแบบนี้ได้ใช้ยิงแสดง ในการสาธิตการใช้กำลังทางอากาศ เมื่อวันที่ ๒๖ ธ.ค.๓๒ และนับเป็นการ สาธิตการใช้กำลังทางอากาศครั้งสำคัญของ ทอ. ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ เสด็จพระราช ดำเนิน ทอดพระเนตร พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร
  • เห่าฟ้า-4 (พ.ศ.2526)
    จรวดขนาด 2.5 นิ้ว ที่เริ่มเปลี่ยนมาใช้ดินขับชนิดฐานผสม (Composite) จากเดิมที่ใช้เป็นดินขับชนิดสองฐาน (Double Base)
ดินขับชนิดสองฐาน (Double Base) ผลิตขึ้นโดยใช้วัสดุในประเทศ ทั้งสิ้น แท่งดินขับ เป็นแบบดินเปลือย ไม่มีการหุ้มดินขับ เนื่องจากขณะนั้น ยังขาดวัสดุซึ่งจำเป็นสำหรับการหุ้มดินขับ จรวดจึงมีสมรรถนะจำกัด เนื่องจาก ต้องใช้ท่อจรวดที่สร้าง จากเหล็กที่ทนความร้อน จากการเผาไหม้ของดินขับจรวด จึงมีน้ำหนักมาก
  • เห่าฟ้า-5 MOD 1 จรวดขนาด 2.75 นิ้ว
    ในปีพ.ศ.2529  ศวอ.ทอ. ได้รับ อนุมัติให้ดำเนินการวิจัยและพัฒนาจรวดอากาศ ขนาด 2.75 นิ้ว ดินขับ Composite ใช้ชื่อว่า "จรวดเห่าฟ้า-5 MOD 1" ซึ่งได้ดำเนินการจนประสบผลสำเร็จ และได้มี การทดลองยิงจรวดดังกล่าวจาก บ.จ.5 (OV-10C) จำนวน 2 ครั้ง ใช้จรวดรวม 60 นัด ผลการทดสอบเป็นที่น่าพอใจ จรวดทำงานได้อย่างถูกต้อง และมีความแม่นยำ
    บ,จ.5 ยิงจรวดเห่าฟ้า-5 mod1
    ต่อมาในปีพ.ศ.2531 สพ.ทอ.ได้ปรับปรุงโรงงานผลิตจรวดที่ บน.2 เพื่อผลิตจรวดอากาศขนาด 2.75 นิ้ว แบบ Mk 40 อันเป็นจรวดสมรรถนะปานกลางที่ใช้ในการฝึก ซึ่ง คณก.มาตรฐานระบบอาวุธ ทอ. ได้รับรองมาตรฐานจรวดอากาศขนาด 2.75 นิ้ว Mk 40 ของ สพ.ทอ. เมื่อปีพ.ศ.2534 และมีการผลิตใช้งานใน ทอ. สืบต่อมา
    จรวด 2.75 นิ้วหางพับ Mk 40
  • เห่าฟ้า-5 MOD X
    ในช่วงเวลา ประมาณปีพ.ศ.2530-34 ทอ.ของประเทศต่าง ๆ รวมถึงประเทศในกลุ่ม NATO และทอ.ไทย ได้รับจรวดอากาศขนาด 2.75 นิ้ว แบบใหม่เข้าประจำการคือ จรวด CRV-7 (Canadian Rocket Vehicle - 7) ผลิตในประเทศแคนาดา เป็นจรวดซึ่งใช้ดินขับ Composite มีสมรรถนะสูงกว่าจรวด 2.75 นิ้วที่ใช้ดินขับ Double Base แบบเดิม

    ศวอ.ทอ.จึงพัฒนาปรับปรุงจรวดเห่าฟ้า-๕ MOD 1 ให้มีสมรรถนะสูงเทียบเท่า จรวดมาตรฐาน NATO โดยเรียกชื่อว่า "จรวดเห่าฟ้า-๕ MOD X" ทั้งนี้มีเป้าหมายที่ จะพัฒนาคุณภาพ ของจรวดที่ผลิตให้มีความปลอดภัย ในการใช้งาน และมีความเชื่อถือได้สูงอยู่ใน ระดับมาตรฐานสากล เช่นเดียวกับ จรวดมาตรฐาน NATO

    ด้วยกรรมวิธีการวิจัย และพัฒนาจรวด ให้มีสมรรถนะ เทียบเท่ากับจรวดมาตรฐาน NATO ใช้ข้อมูลสมรรถนะของจรวดมาตรฐาน NATO เป็นตัวตั้ง แล้วจึงออกแบบจรวดให้มีสมรรถนะตามตัวตั้งนั้น แต่ด้วยข้อจำกัด ของงบประมาณ จึงมิได้มีการซื้อเทคโนโลยีสำเร็จรูปมาจากต่างประเทศ เทคโนโลยีที่ใช้ ค้นคว้าจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ และการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และ อุปกรณ์เครื่องมือ กับมิตรประเทศ ซึ่งอยู่ในระหว่างดำเนิน การวิจัยพัฒนาจรวดชนิดเดียวกัน

    การทดสอบความ เป็นมาตรฐาน ของจรวด ได้ดำเนินการทดสอบตามมาตรฐานต่างประเทศ ซึ่งประกอบด้วยการยิงทดสอบจรวดจำนวน 314 นัด และการทดสอบ จำลอง สภาพแวดล้อมต่าง ๆ ตามมาตรฐาน MIL-STD-810 ของ กห.สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นวิธีการทดสอบจำลองสภาพแวดล้อมรุนแรงต่าง ๆ เช่น การตกกระแทก การแช่ในน้ำ สภาพอุณหภูมิต่ำ-สูง -54 ถึง +66 องศาเซลเซียส การสั่นสะเทือนจากการติดตั้งกับอากาศยาน และจากการ ขนส่งทางบก รวมถึงจำลองสภาพการเก็บรักษาเป็นเวลานาน ๑๐ ปี จรวดจะต้องใช้งานได้เป็นปกติหลังจากผ่านการทดสอบเหล่านี้มาแล้ว

การพัฒนาจรวดให้มีสมรรถนะเทียบเท่าจรวดมาตรฐาน NATO นับเป็นเป้าหมายที่บรรลุได้ยากพอสมควร เนื่องจากจรวดแบบนี้มีสมรรถนะสูง จนอาจเรียกได้ว่ามีสมรรถนะสูงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ด้วยเทคโนโลยีด้านดินขับ Composite ที่มีอยู่ในโลกขณะนั้น

การดำเนินงานในครั้งแรกประสบปัญหาทางเทคนิคในบางขั้นตอน เช่นยังขาดอุปกรณ์ตรวจสอบคุณภาพในการผลิต และสารเคมี ที่เป็นวัตถุดิบเสื่อมสภาพ ลงตามระยะเวลา

ในระหว่างที่ยังมีข้อขัดข้องในการวิจัยจรวดขนาด 2.75 นิ้วนั้น ศวอ.ทอ.ก็ได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนาจรวดควัน Smokey Sam ขึ้น ตามความต้องการทางด้านยุทธการ 
การฝึกหลบหลีกจรวดแซม (smokey sam)
โดยจรวดควัน Smokey Sam เป็นจรวดที่มีลำตัวสร้างจากกระดาษและโฟม บรรจุดินขับ Composite ชนิดควันมาก ได้พัฒนาขึ้นเพื่อจำลองการยิงของอาวุธนำวิถีพื้นสู่อากาศ SA-7 สำหรับใช้ฝึกทางยุทธวิธี ของนักบินให้มี ความคุ้นเคยกับการถูก ต่อต้านจากกำลังภาคพื้น 
จรวดควันเลียนแบบอาวุธปล่อยแซม (Smokey Sam)
ทอ.ได้รับรองมาตรฐานจรวดควัน Smokey Sam เมื่อต้นปีพ.ศ.2535 และให้ผลิตได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อนำมาใช้ในราชการสืบต่อมา

ในปีพ.ศ.2538 ศวอ.ทอ.ได้รับงบประมาณจาก สวพ.กห. มาซื้อวัสดุอุปกรณ์เครื่องมือที่ยังขาดอยู่ จึงสามารถดำเนินการวิจัยจรวด ขนาด 2.75 นิ้วดินขับ Composite ได้จนบรรลุวัตถุประสงค์
เห่าฟ้า Mod X ยิงจากบ.ขฝ.1 (L-39 ZA/ART)
จรวดผ่านการทดสอบตามขั้นตอนที่ได้กำหนดไว้ รวมถึงการยิงภาคอากาศจาก บ.ขฝ.1 (L-39) จำนวน 100 นัด และ ทอ.ได้รับรองมาตรฐานของจรวด เมื่อต้นปีพ.ศ.2541 และได้รับรางวัลสิ่งประดิษฐ์คิดค้นของ ทอ. ประจำปีพ.ศ.2542 รวมทั้งยังได้รับรางวัลชมเชย ผลงานประดิษฐ์คิดค้น ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและอุตสาหกรรม ประจำปีพ.ศ.2543 จากสภาวิจัยแห่งชาติ
แม้ปัจจุบัน ยังไม่มีการดำเนินการผลิตจรวดชนิดนี้ขึ้นเพื่อใช้งาน แต่ในการวิจัยและพัฒนาได้กำหนดกรรมวิธีและ รปป.ต่าง ๆ สำหรับทุกขั้นตอนการผลิต และการตรวจสอบควบคุมคุณภาพ ดังนั้น ศวอ.ทอ. จึงสามารถดำเนินการผลิตได้ทันที เมื่อกองทัพมีความต้องการ
ผลที่ได้รับจากการดำเนินโครงการวิจัย และพัฒนาจรวด 2.75 นิ้วดินขับ Composite นอกจากจะเกิด ความร้ ูความ ชำนาญ ในการผลิต จรวด สมรรถนะสูง ที่เป็นมาตรฐานแล้ว ผลที่นับว่ามีคุณค่าอย่างมากคือ ได้เทคโนโลยีในการออกแบบ ผลิต ควบคุมคุณภาพ และทดสอบจรวด รวมถึงการจำลองสภาพแวดล้อม (Environmental Test) และการจำลองการเก็บรักษา (Aging) เทคโนโลยีเหล่านี้ได้ นำมาใช้พัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์ และใช้ทดสอบ เพื่อเป็นข้อมูล ประกอบการพิจารณา ยืดอายุใช้งานอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ ในเวลาต่อมา รวมทั้งการ พิจารณายืดอายุอาวุธนำวิถีด้วย

ตัวอย่าง การนำเทคโนโลยี ที่ได้รับมาใช้ พัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์ ได้แก่ โครงการจรวดลากระเบิดสาย ซึ่งกรมการทหารช่าง (กช.) ดำเนินการวิจัยร่วมกับ ศวอ.ทอ. มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาอุปกรณ์ สำหรับ ใช้เจาะช่องในสนามทุ่นระเบิด เพื่อให้รถถังเคลื่อนที่ผ่านได้ โดยใช้จรวดลากสาย ซึ่งเป็นท่ออ่อนบรรจุวัตถุระเบิด ให้สายระเบิดนั้นตกลงมาพาดผ่าน สนามทุ่นระเบิด แล้วจุดให้ สายระเบิด เกิดการระเบิดแรงอัดจะทำลาย ทุ่นระเบิดที่ฝังอยู่โดยรอบ เป็นช่องทางให้กำลังฝ่ายเราเคลื่อนที่ผ่านไปได้ 
ทดสอบจรวดลากสายระเบิด
ศวอ.ทอ.ดำเนินการในส่วนของจรวดครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ.2537-38 ทดลองใช้จรวดขนาด 2.75 นิ้วลากสายระเบิด แต่แรงขับสูงเกินไปทำให้สายระเบิดขาดจึงได้มีการชะลอโครงการไว้ และดำเนินการต่อในปีพ.ศ.2541 หลังจากเสร็จสิ้นการวิจัยและพัฒนาจรวด ขนาด 2.75 นิ้วดินขับ Composite 

โดย ศวอ.ทอ.ได้ออกแบบจรวดขึ้นใหม่เป็นจรวดขนาด 169 มม. ซึ่งออกแบบให้มีแรงขับเหมาะกับการลากระเบิดสายโดยตรง การวิจัยได้ผลตามความต้องการ โดย กช. พัฒนารถพ่วงบรรจุสายระเบิด พร้อมแท่นยิงจรวดและระบบ สายบรรจุวัตถุระเบิด นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ออกแบบระบบหน่วงให้สายระเบิดตึงเมื่อตกลงพาดพื้น 
จรวดลากสายระเบิด Little Viper ของไทย
คาดว่าชื่อ Little Viper ที่ตั้งขึ้นนี้ น่าจะได้แรงบันดาลใจมาจากรถพ่วงจรวดลากสายระเบิด Giant Viper ของอังกฤษที่สร้างขึ้นราวปีพ.ศ.2493 
เพราะจากภาพวาดร่างการทำงานของ Little Viper แล้ว รถพ่วงมีลักษณะการออกแบบคล้ายๆ กัน
รถพ่วง Giant Viper ของอังกฤษ
ผลของโครงการทำให้ ศวอ.ทอ. ได้รับเทคโนโลยีสำคัญหลายประการเช่น เทคโนโลยีการออกแบบ ระบบ ฉนวนกัน ความร้อน และดินขับสำหรับจรวดขนาดใหญ่ กับเทคโนโลยี การใช้แบบ จำลอง ทางคณิตศาสตร์ร่วมกับ การคำนวณด้วยคอมพิวเตอร์ เพื่อออกแบบจรวดให้มีสมรรถนะตรงตามความต้องการใช้งาน 
นอกจากนั้น ศวอ.ทอ. ยังดำเนินการศึกษา เทคโนโลยีพื้นฐานเกี่ยวกับดินขับจรวด เช่นการศึกษาความเป็นไปได้ในการผลิตดินขับ Composite ชนิดแอมโมเนียมไนเตรท เพื่อทดลองใช้สารแอมโมเนียมไนเตรทที่ผลิตได้ในประเทศ และมีราคาถูก มาเป็นตัวให้ออกซิเจน ในการผลิตดินขับ จรวดราคาต่ำ เช่น จรวดสำหรับ ส่งเครื่องบินเป้าขึ้นจากรางปล่อย หรือ ในอุปกรณ์การผลิต ก๊าซความดันสูง สำหรับขับพื้น บังคับ ของอาวุธ นำวิถี และจากผล การศึกษาพบว่า แอมโมเนียมไนเตรท มีข้อจำกัดหลายประการ เช่นจุดตัวได้ยาก เผาไหม้ได้เฉพาะ ในสภาพความดันสูง และดูดความชื้นได้รวดเร็ว การใช้งานจึงกระทำได้เพียง ในบางกรณี ซึ่งอยู่ในระหว่างการศึกษาต่อไป

นอกเหนือจากจรวดขนาด 2.25 นิ้ว, 2.5 นิ้ว, 2.75 นิ้ว และ 169 มม.แล้ว ในปีพ.ศ.2527  ศวอ.ทอ. มีขีดความสามารถสูงพอ ที่จะดำเนินการวิจัยและพัฒนา จรวดขนาดใหญ่ได้ เมื่อได้รับความเห็นชอบ โดยได้รับการสนับสนุนจาก พล.อ.อ.ประพันธ์ ธูปะเตมีย์ ผบ.ทอ. ในขณะนั้น จึงดำเนินการวิจัยและพัฒนาจรวด ขนาด 140 มม. 
จรวด 140 มม.ของ ศวอ.ทอ.
จรวดขนาด 140 มม. เป็นจรวดที่ยิงจากภาคพื้น พัฒนาขึ้นเพื่อการวิจัย บรรทุกน้ำหนักได้สูงสุด 24 กก. มีระยะยิง (จากการคำนวณ) ประมาณ 70 กม. ได้มีการผลิตและจุดทดสอบ ทั้งภาคสถิตและยิงจริงภาคพลวัต รวม 15 นัด 

การดำเนินงานวิจัยและพัฒนาในช่วงแรก นับเป็นการปูพื้นฐานทางเทคโนโลยี ดินขับจรวด ส่วนการวิจัยและพัฒนาจรวดขนาดมาตรฐานโดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อผลิตทดแทนจรวดแบบที่กองทัพจัดหามาจากต่างประเทศเพื่อใช้ราชการ 
    โครงการวิจัยและพัฒนาอันเป็นก้าวต่อไปของเทคโนโลยีจรวดของ ศวอ.ทอ. คือโครงการพัฒนาลำตัวจรวด ขนาด ๑๒๗ มม. อันมี น.อ.ศราวุธ กลิ่นพันธุ์ เป็นนายทหารโครงการ ระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปี (ปีงป.2545–47) งป.สวพ.กห. จำนวน 9,211,626 บาท


    โดยมีวัตถุประสงค์ของโครงการเพื่อออกแบบ สร้างและพัฒนา เทคโนโลยีการผลิตดินขับจรวดท่อลำตัวจรวด ส่วนประกอบอื่นของจรวด ชุดควบคุมการยิง ระบบแท่นยิงในการทดสอบ Ground Launch และเครื่องมือวัดผลการทดสอบภาคสถิติและภาคพลวัต เพื่อนำเทคโนโลยีนี้มาใช้กับ GCS (Guidance Control Section) ของ AIM-9 เป็นอาวุธป้องกันภัยทางอากาศทางยุทธการ ุ และเพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับรองรับโครงการวิจัยและพัฒนาจรวดนำวิถีในอนาคต

    การยิงทดสอบครั้งแรก มีขึ้นในวันพุธที่ 25 กุมภาพันธ์ 2547 และการยิงทดสอบครั้งที่สอง กระทำกันในวันที่ 8 สิงหาคม 2547 โดยการทดสอบครั้งที่สองนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทดสอบการทำงานของจรวด ตรวจสอบการนำวิถีเข้าสู่เป้าหมาย เมื่อใช้ส่วนลำตัวจรวดที่วิจัยและพัฒนาขึ้นเอง ติดตั้งชุดนำวิถีของจรวด AIM-9P-3 โดยยิงจากฐานยิง ปตอ.40L70 ที่ ศวอ.ทอ.พัฒนาขึ้นติด Launcher แบบ LAU-7
    มีบางท่านกล่าวว่าการยิงทดสอบครั้งที่สาม มีขึ้นในช่วงปีพ.ศ.2549 ซึ่งก็น่าจะเป็นครั้งสุดท้ายของโครงการนี้

    ทั้งนี้เพราะกองทัพไทยน่าจะพิจารณาเห็นจุดอ่อนของการวิจัยพัฒนาในแต่ละเหล่าทัพที่ต่างคนต่างพัฒนาตามความต้องการของตน และเมื่อถึงจุดๆ หนึ่งแต่ละเหล่าทัพก็ไม่สามารถต่อยอดการวิจัยพัฒนาต่อไปได้อีก

    ดังนั้นในวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ.2550 ที่ประชุมสภากลาโหม ได้มีมติเห็นชอบให้ จัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (องค์การมหาชน) - DTI โดยมีภารกิจในการดำเนินการวิจัยโครงการขนาดใหญ่ด้านยุทโธปกรณ์ที่ต้องใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูง ทำการวิจัยและพัฒนาจากระดับองค์ความรู้ที่มีอยู่ไปสู่ระดับที่ซับซ้อนมากขึ้น โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ของกระทรวงกลาโหม ตลอดจนพัฒนายุทโธปกรณ์ต้นแบบตามความต้องการของเหล่าทัพ

    แผนงานส่วนหนึ่งของสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (องค์การมหาชน) - DTI ก็เป็นการสานต่อ หรืออาจจะกล่าวได้ว่าเป็นการรับช่วงต่องานที่ ศวอ.ทอ.ได้ศึกษาองค์ความรู้ไว้แล้ว นั่นก็คือการพัฒนาจรวดนำวิถีแบบต่างๆ
    แผนการดำเนินงานของ DTI จะเริ่มต้นโครงการวิจัยและพัฒนาตามลำดับ จากจรวดหลายลำกล้องทั้งแบบไม่นำวิถี และนำวิถี จรวดต่อสู้รถถัง จรวดต่อต้านเรือ จรวดต่อสู้อากาศยาน จรวดร่อน อาวุธนำวิถีอากาศสู่พื้น และอาวุธนำวิถีอากาศสู่อากาศ


    สถาบัน DTI ได้สานต่อเส้นทางการพัฒนาเทคโนโลยีจรวดของไทย โดยการเรียนลัดอาศัยความร่วมมือจากมิตรประเทศ ซึ่งสามารถสร้างผลภัณฑ์ออกมาได้แล้ว ก็คือ

    • จรวด(ไม่นำวิถี) DTI-1 ขนาด 302 มม.

    • จรวดนำวิถี DTI-1G     ขนาด 302 มม.

    • จรวด(ไม่นำวิถี) DTI-2 ขนาด 122 มม.
    จากแผนงานในส่วนของการพัฒนาจรวดแล้ว ขั้นต่อไปก็เป็นจรวดต่อต้านรถถัง โดยสถาบัน DTI กำลังอยู่ในระหว่างการทำวิจัยจรวดต่อสู้รถถัง ซึ่งเป็นโครงการวิจัยพื้นฐานที่ทำการวิจัยเพื่อค้นหาเทคโนโลยีที่เหมาะสมเช่น เทคโนโลยีดินขับไร้ควัน เป็นต้น เมื่อได้เทคโนโลยีที่เหมาะสมแล้ว ก็จะก้าวไปสู่การเปิดเป็นโครงการวิจัยและพัฒนาโดยไป โดยอาจร่วมมือกับหน่วยงานที่มีขีดความสามารถในการวิจัย

    สำหรับจรวดต่อต้านรถถังนั้น กองทัพบกเคยพัฒนาไว้แล้ว คือ เครื่องยิงจรวดแบบ 25 ขนาด 73 มม. เคยเข้าประจำการในกองทัพ ปีพ.ศ.2525 แต่เกิดอุบัติเหตุในระหว่างการใช้งาน จึงทำให้ไม่ได้รับการยอมรับจากทหารผู้ใช้ จรวดแบบ 25 จึงสาปสูญไปกับการเวลาและถูกปลดประจำการไปโดยปริยาย

    แต่จรวดต่อต้านรถถังที่ DTI จะพัฒนาต่อไปนั้นจะมีขนาดเท่าใด รูปลักษณะจะหน้าตาแบบไหน และอนาคตของจรวดไทยจะเป็นอย่างไร ก็ต้องรอชมผลงานกันในอนาคต

    ส่งท้ายบทความนี้ก็คงจะเป็นการตอกย้ำในองค์ความรู้ของขนาดจรวดที่เรามีอยู่แล้วก็คือ

    1. จรวดต่อต้านรถถัง ขนาด 73 มม. ของ ทบ.
    2. จรวด DTI-2 ขนาด 122 มม. ของ DTI
    3. จรวดลำตัวขนาด 127 มม. ของ ศวอ.ทอ.
    ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นข้อมูลในการคาดเดาว่าจรวดพื้นสู่อากาศระยะ 4-16 กิโลเมตรของ DTI ที่จะทำการวิจัยและพัฒนาในอนาคตนั้นน่าจะมีขนาด 122 มม. หรือไม่ก็ 127 มม. เพราะจรวด RAM (RIM-116) ของสหรัฐฯ ขนาดลำตัว 127 มม.(5") มีระยะยิง 11 ไมล์(17.7 กม.)
    RIM-116 ของสหรัฐฯ
    แต่จรวด SA (Surface to Air - พื้นสู่อากาศ) ของ DTI ในอนาคต อาจจะขนาด 122 มม.ก็เป็นได้ เพราะกำหนดระยะยิงแค่ 16 กม. เทียบเคียงกับจรวด FL-3000N (HHQ-10) ของจีนที่มีขนาด 120 มม.(รายละเอียดที่มีอยู่ในอินเตอร์เน็ทคือ 0.12 m.) ระยะยิง 9 กม. โดยอาจได้รับความช่วยเหลือจากมิตรประเทศกันอีกครั้ง
    FL-3000N (HHQ10) ของจีน
    สุดท้ายต้องขอขอบคุณบทความ การพัฒนาเทคโนโลยีจรวดของ ศวอ.ทอ. โดย น.อ.เจษฎา คีรีรัฐนิคม
    ไว้ ณ ที่นี้ด้วย

    2 comments:

    1. ทำไมเราไม่เอาเครื่องไอพ่นจากเครื่องบิน มาดัดแปลงเป็นขีปนาวุธกะเขาบ้างครับ ผมว่าน่าจะเอาเครื่องยนต์จากเครื่องบินที่ปลดประจำการมาดัดแปลงเป็นระบบขับเคลื่อนขีบนาวุธที่ ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ระบบโดรนเราก็มี จีพีเอสก็มี ดาวเทียมก็มี น่าจะเอามาทำขีปนาวุธได้ ขนาดทำบั้งไฟกัน ยังทำได้ทุกปี คนไทยทำยังไงก็ทำอยู่แล้ว เอาของที่ใช้ไม่ได้ มาดัดแปลงให้เป็นประโยชน์กับประเทศชาติบ้างได้ไหม เครื่องยนต์เครื่องบินการบินไทยนะทิ้งไว้ทำไม เอามาทำขีปนาวุธยังไงก็ใช้แล้วทิ้งอยู่ดี หรือถ้ายังบินได้ก็บรรทุกหัวลบหรือกระสุนหมดอายุ ไปทิ้งแบบกามิกาเซ่เลย เสียดายของซื้อมาแล้วไม่ได้ใช้

      ReplyDelete
    2. หากมีการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ไทยคงประหยัดงบประมาณไปได้เยอะ เริ่มตอนนี้เลยดีไหม?

      ReplyDelete