Wednesday, April 27, 2016

ปืน CSASS - Compact Semi-Automatic Sniper System

บทความวันนี้นำเสนอประวัติของปืนไรเฟิลซุ่มยิงแบบหนึ่ง ให้เห็นถึงวิวัฒนาการของปืนตระกูลนี้ที่มีการปรับเปลี่ยนตามความต้องการในการใช้งาน โดยการจัดซื้อนั้นต้องขอบอกว่าถ้าไม่ใช่ประเทศที่ร่ำรวยก็ไม่สามารถกระทำได้ 
M110 (SASS)
ส่วนเรื่องราวจะเป็นอย่างไรนั้น ลองติดตามอ่านกันดู ทั้งนี้ในระหว่างที่อ่านบทความอาจจะมีการสับสนในเรื่องของช่วงเวลา เนื่องจากมีการย้อนประวัติกันค่อนข้างเยอะ แม้ว่าจะพยายามเรียบเรียงให้เป็นลำดับแล้วก็ตาม แต่ก็ยังต้องมีการอ้างอิงย้อนกลับไปกลับมา ดังนั้นจึงแจ้งมาเพื่อเป็นการปรับความเข้าใจกันเสียก่อน
ก่อนที่จะเข้าเรื่องปืน Compact Semi-Automatic Sniper System (CSASS) ต้องย้อนไปกล่าวถึงโครงการปืน Semi-Automatic Sniper System (SASS) อันจะเป็นที่มาของปืน CSASS กันก่อน

ปืน SASS นี้เกิดขึ้นจากแนวคิดที่จะเพิ่มอำนาจการยิงให้กับพลแม่นปืนประจำหน่วยทหารราบ ซึ่งแม้ว่าแนวคิดนี้จะขัดกับหลักการของพลซุ่มยิงที่ต้องปกปิดอำพรางที่ตั้ง แต่ก็แลกได้มาซึ่งอำนาจการยิงที่เพิ่มขึ้น

อธิบายขยายความคือ ปกติพลซุ่มยิงจะใช้ปืนลูกเลื่อนแบบ M14 และ M24 ซึ่งหมายถึงการยิงหนึ่งนัดต่อหนึ่งเป้าหมาย หากยิงพลาดเป้าหมายสามารถหลบเข้าที่กำบังได้ แต่ปืน SASS สามารถเพิ่มอำนาจการยิงที่ต่อเนื่อง เป็นสามนัดต่อหนึ่งเป้าหมาย ทำให้สามารถยิงซ้ำในเป้าหมายที่ยิงพลาดได้เร็วกว่าปืนแบบลูกเลื่อน แต่กระสุนปืนกึ่งอัตโนมัติจะถูกคัดและปลิวกระเด็นออกจากรังเพลิงจะทำให้เป็นการเปิดเผยที่ตั้งยิงได้
ปืน M14
กองทัพบกสหรัฐฯ เปิดโครงการปืน SASS ในปีพ.ศ.2547 โดยมียอดการสั่งซื้อจำนวน 4,492 กระบอก และได้ผู้ชนะฯ ในปีพ.ศ.2548 โดยผู้ชนะได้รับเลือกในโครงการนี้คือบริษัท Knight's Armament Company (KAC) ที่เสนอปืน M110(SASS)
คุณลักษณะเด่นหลักๆ ของโครงการปืน SASS คือใช้กระสุน 7.62x51 มม. และต้องติดตั้งท่อเก็บเสียง 

บริษัท KAC เป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงและไม่ใช่บริษัทหน้าใหม่ในวงการปืนไรเฟิล บ.Knight's เคยมีวิศวกรนักออกแบบผู้เป็นตำนานของวงการปืนไรเฟิล เขาผู้นั้นคือ Eugene Stoner (ปัจจุบันเสียชีวิตไปแล้ว) 
Eugene Stoner คือผู้คิดค้นออกแบบปืน AR-10(Armalite Rifle 10) ขนาด 7.62x51 มม.ในปีพ.ศ.2500 และต่อมาปีพ.ศ.2502 ตัวเขาร่วมกับหัวหน้าผู้ช่วยฯอีกสองคนนำปืน AR-10 มาย่อแบบให้ใช้กับกระสุนปืนขนาด 5.56x45 มม.ให้ชื่อมันว่าปืน AR-15 
ภายหลังบริษัท Fairchild Armalite ที่เขาทำงานอยู่ ประสบปัญหาด้านการเงินจึงขายแบบปืน AR-15 ให้กับบ. Colts และปีพ.ศ.2506 บริษัทโคลท์ก็ได้นำปืน AR-15 เสนอต่อกองทัพซึ่งก็กลายเป็นปืน M-16 นั้นเอง
ในปีพ.ศ.2533 Eugene Stoner ได้ร่วมกับบ.KAC สร้างปืน SR-25(Stoner Rifle 25) จากพื้นฐานของปืน AR-10 แต่ออกแบบใหม่โดยชิ้นส่วนถึง 60% ของ SR-25 สามารถใช้แทนกันกับ AR-15 และ M16 ได้ สำหรับตัวเลข 25 เป็นการนำรหัสของ AR-15 และ AR-10 มารวมกัน
SR-25 ที่กองทัพไทยมีประจำการอยู่
ปืน SR-25 นั้นได้รับการจัดหาเข้าใช้ในทีม SEAL ของกองทัพเรือสหรัฐฯ ภายใต้ชื่อปืน Mk11 Mod 0 จำนวน 300 กระบอก เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2543 โดยตัดลำกล้องของรุ่นปกติ 24 นิ้วออกไป 4 นิ้วเพื่อใส่ท่อเก็บเสียงยาว 6 นิ้ว 
Mk11 Mod 0
ปืน Mk11 Mod 0 ใช้เวลาพิสูจน์และปรับปรุงลักษณะรวมทั้งประสิทธิภาพอยู่นานกว่าจะได้คุณลักษณะตามที่หน่วย SEAL ต้องการ หลังจากนั้นมาหน่วยนาวิกโยธินฯ และกองทัพบกสหรัฐฯ ก็ให้ความสนใจในปืนนี้

จนกระทั่งเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2548 (ปีเดียวกันที่ประกาศผู้ชนะโครงการปืน SASS) หน่วยนาวิกโยธินสหรัฐฯ ประกาศจัดหาปืน Mk11 Mod 0 แต่ใช้ชุด Upper Receiver ของปืน M110(SASS) จำนวน 180 กระบอกเพื่อใช้แทนปืน M40A3 ที่ไม่เหมาะสมกับสงครามในเมือง ดังเช่นสงครามในเมือง Ramadi และเมือง Fallujah ประเทศอิรัค ปีพ.ศ.2547 (ปืนชุดนี้เป็นที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า Mk11 Mod 1)
ปืน Mk11 Mod 1
ในเดือนเมษายน พ.ศ.2551 ปืน M110 ขณะที่อยู่ในระหว่างการทดสอบและปรับปรุงภายใต้รหัสชื่อปืน XM110 ได้ถูกนำไปทดสอบการใช้งานภาคสนามในประเทศอัฟกานิสถาน และถูกพบเห็นทำให้เกิดความเข้าใจผิดคิดว่าปืน M110 ได้ถูกเข้าประจำการแล้ว

ปีพ.ศ.2553 หน่วย SOCOM (United States Special Operations Command) กองทัพบกสหรัฐฯ ประกาศจัดหาปืนโครงการ SASS เข้าประจำการ มีมูลค่า $9.9 ล้านเหรียญ ให้ชื่อปืนเป็น M110 โดยหน่วยนาวิกโยธินสหรัฐฯ ก็จัดหาเข้าประจำในหน่วยแต่ใช้ชื่อ Mk11 Mod 2


ถึงจุดนี้จะเห็นว่าปืน Mk11 Mod 1 ซึ่งก็คือ "ปืน Mk11 Mod 0 แต่ใช้ชุด Upper Receiver ของปืน M110 " นั้นสิ้นสุดลง ไม่มีการผลิตอีก แต่บ.KAC อาจจะมีสต็อกเหลืออยู่บ้างจึงนำออกประกาศขาย
ประกาศขายปืน Mk11 Mod 1 ในปีพ.ศ.2552 จำนวน 50 กระบอก ราคา $8,508
จากการที่ปืน M110(SASS) มีพื้นฐานมาจากปืน SR-25 จากการที่มันพัฒนามาจากปืนในตระกูลเดียวกันกับปืน M-16 ทำให้ขจัดปัญหาเรื่องการฝึกออกไป เพราะทหารจะรู้สึกคุ้นเคยกับกลไกของมัน

ปืน M110 ถูกนำเข้าประจำการเพื่อเป็นทางเลือกอีกแบบสำหรับพลแม่นปืนประจำหมู่ทหารราบ นอกเหนือจากปืนลูกเลื่อน Remington M24 Sniper Weapon System (SWS)
Remington M24 SWS (Sniper Weapon System)
แต่หลังจากนั้นในปีพ.ศ.2554 กองทัพบกสหรัฐฯ ได้แสดงความต้องการที่จะเปลี่ยน หรือจัดหาปืนใหม่ เนื่องจากพบว่าปืน M110 กระทำได้ไม่ดีในการบำรุงรักษาที่ต้องการทางภาคสนาม และการเปลียนชิ้นส่วนปืน

คราวนี้ก็ถึงคิวของปืน CSASS ในปีพ.. 2555 กองทัพบกสหรัฐฯ ได้ประกาศโครงการปืน Compact Semi-Automatic Sniper System (CSASS) เพื่อนำเข้าทดแทนปืน M110(SASS) โดยปิดรับแบบและข้อเสนอในเดือนตุลาคม พ.ศ.2557
แม้กระนั้นบ.Knight's Armament ก็ได้รับสัญญาสั่งซื้อปืน M110 เพิ่มเติมอีกเมื่อวันที่ 2 เมษายน พ..2555 มูลค่า 24,909,704 ล้านดอลล่าร์สำหรับปืน SASS จำนวน 1,005 กระบอก โดยกำหนดสิ้นสุดการส่งมอบคือวันที่ 21 มีนาคม พ..2560


อย่างไรก็ดีเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2559 ที่ผ่านมาได้มีการประกาศผลออกมาแล้วว่าปืน HK CSASS ของบ. Heckler & Kock จะถูกจัดหาแทนปืน M110(SASS) ด้วยเหตุผลที่ว่ากองทัพบกต้องการปืนที่กระทัดรัดกว่า สั้นกว่า เบากว่า และเชื่อถือได้

สัญญาจัดซื้อครั้งนี้มีมูลค่า 44.5 ล้านดอลล่าร์สำหรับปืน CSASS จำนวน 3,643 กระบอก รวมทั้งอะไหล่และการบริการ โดยจะสั่งซื้อภายในระยะเวลาสองปีนับจากประกาศผู้ชนะ และกำหนดส่งมอบภายในห้าปี

ปืน HK CSASS มีพื้นฐานมาจากปืน HK G28 ขนาด 7.62x51 มม.นาโต้ ที่ปรับให้ตรงกับความต้องการของกองทัพบกสหรัฐฯ ซึ่งก็น่าจะคือปืน HK 417 ในรูปลักษณะสำหรับพลซุ่มยิง
HK G28 ในงาน gun show

สำหรับสเปคฯ ของปืน HK CSASS นั้นยังไม่มีการเปิดเผยออกมา แต่จากการค้นข้อมูลในอินเตอร์เน็ทมีการกล่าวว่าปืนสั้นลงจาก 40.5 นิ้ว เหลือ 36 นิ้ว (สั้นลง 4.5 นิ้ว) และน้ำหนักเปล่าจาก 6.94 กิโลกรัมให้เหลือน้อยกว่า 4.1 กิโลกรัม (เบาขึ้น 2.84 กิโลกรัม) ส่วนรายละเอียดอย่างแท้จริงจะเป็นอย่างไรนั้น ต้องรอติดตามกันต่อไป



ส่งท้ายกันด้วย สรุปลำดับช่วงเวลาอย่างคร่าวๆ ภาพรวมของบทความได้ดังนี้

  1. พ.ศ.2543 - ปืน SR-25 เข้าประจำการในหน่วย SEAL ภายใต้ชื่อ Mk11 Mod 0
  2. พ.ศ.2547 - เปิดโครงการ SASS
  3. พ.ศ.2548 - ปืน M110 ชนะโครงการ SASS
                  - หน่วยนาวิกฯ จัดหาปืน Mk11 Mod 1
  4. พ.ศ.2553 - หน่วย SOCOM จัดหา M110
                  - หน่วยนาวิกฯ จัดหาปืน Mk11 Mod 2
  5. พ.ศ.2555 - กองทัพบกประกาศโครงการ CSASS 
  6. พ.ศ.2557 - ประกาศเชิญชวนบริษัทต่างๆ ร่วมโครงการ CSASS
  7. พ.ศ.2559 - ปืน HK CSASS ของบ.Heckler & Kock เป็นผู้ชนะโครงการ
ซึ่งหากนับจากปีที่ SOCOM สั่งซื้อคือพ.ศ.2553 ไปถึงปีที่ประกาศโครงการ CSASS คือพ.ศ.2555 เป็นระยะเวลาเพียง 2-3 ปีเท่านั้นเอง ที่ปืน M110(SASS) เข้าประจำการก่อนจะมีประกาศคุณลักษณะใหม่ที่ต้องการ 
และหากนับจากปีที่สั่งซื้อคือพ.ศ.2553 ไปจนถึงปีที่ประกาศผู้ชนะโครงการ CSASS คือพ.ศ.2559 ก็เป็นระยะเวลา 6-7 ปี ที่ปืน M110(SASS) เข้าประจำการก่อนจะถูกทดแทนด้วยปืนรุ่นใหม่ 
นับว่าช่วงชีวิตของปืน M110(SASS) ช่างสั้นเสียจริงๆ 

สุดท้ายก็คงต้องชื่นชมผลิตภัณฑ์ของบ.Heckler & Kock ที่มีชื่อเสียง มีคุณภาพโดยได้รับความเชื่อถือไว้วางใจไปทั่วโลก จึงได้รับคัดเลือกเป็นผู้ชนะในโครงการ Compact Semi-Automatic Sniper System (CSASS) 

No comments:

Post a Comment