Friday, June 24, 2016

Four Horsemen จตุรอาชา

สืบเนื่องมาจากการไปพบเห็นเรื่องราวของทีมแสดงการบินผาดแผลง Four Horsemen ทำให้คาดคิดไปว่าจะมีคนที่เข้าใจความหมายและที่มาที่ไปของชื่อทีมกันกี่มากน้อย
The Horsemen Team
นอกจากนั้นคำๆ นี้ (Four Horsemen) ก็มักถูกอ้างถึงในหนังภาพยนต์หลายต่อหลายเรื่องทั้งในจอเงินและจอแก้ว เช่น หนังปีนี้เรื่อง Pride and Prejudice and Zombies (เลดี้+ซอมบี้) ก็มีการปรากฏตัวของจตุรอาชา


บทความวันนี้จะไม่เกี่ยวข้องอะไรกับฝูงบิน The Horsemen เพราะจริงแล้วชื่อทีมก็ไม่ใช่ Four Horsemen ทั้งนี้เพราะเวลาไปแสดงโชว์ถ้าไปสี่ลำ ผู้บรรยายก็จะเรียก Four Horsemen ถ้าไปแสดงแค่สามลำ ก็จะเรียก Three Horsemen  โดยเรื่องที่จะนำเสนอนั้นจะเป็นในเรื่องของตำนานแห่งชื่อจตุรอาชา
อันที่จริงแล้ว ชื่อ Four Horemen หรือ จตุรอาชา นี้ ในชาติตะวันตกจะเป็นชื่อไม่ค่อยดีนัก เนื่องจากชื่อนี้จะสื่อถึงความดำมืด เพราะมันหมายถึง จตุรอาชาแห่งวันโลกาวินาศ (Four Horsemen of the Apocalypse) ในคัมภีร์ไบเบิ้ล

ในบท "วิวรณ์ 6"(คำอธิบายอยู่ช่วงท้าย) กล่าวถึงวันสิ้นโลก ได้กล่าวถึงม้วนกระดาษ(scroll) ในมือขวาของพระเจ้า  ม้วนกระดาษได้ถูกผนึกไว้ด้วยตราผลึกเจ็ดดวง (Seven Seals) ที่จะถูกปลดออกในวันพิพากษาโดยลูกแกะของพระผู้เป็นเจ้า หรือ สิงโตแห่งยูดาห์ ซึ่งการปลดผลึกจะเริ่มต้นด้วยการปรากฏตัวของ 4 Horsemen ก่อน...นั่นก็คือ

ผลึกดวงแรก การแก่งแย่งชิงดี (Conquest) ม้าสีขาว คนขี่สวมมงกุฏและถือธนู
มงกุฏ หมายถึง ความเป็นใหญ่ ส่วนธนู หมายถึง อำนาจ สองสิ่งนี้จะนำไปสู่ ความแตกแยก ชิงดีชิงเด่น เพื่อให้ได้มาซึ่งความมีชัย
อย่างไรก็ตามมีการตีความผลึกดวงแรกไปอีกแนวทางหนึ่ง โดยคำที่อ้างอิงคำเรียกขานคนขี่ม้าเป็นว่า Pestilence ซึ่งแปลว่า โรคระบาด แต่ทั้งนี้หากพิจารณาจากในคัมภีร์ไบเบิ้ล จะให้สัญญลักษณ์ผลึกดวงแรกเป็น conquest ที่แปลว่า ชัยชนะ  ดังนั้นการที่ผู้คนเรียกขานคนขี่ม้าว่า โรคระบาย อาจมีนัยหมายถึง การลุกลามของความแก่งแย่งชิงดีไปทั่วทุกหัวระแหง เสียมากกว่า

ผลึกดวงที่สอง สงคราม (War) ม้าสีแดง คนขี่ถือดาบใหญ่
ดาบใหญ่ ก็คือ อาวุธ ซึ่งใช้ในการรบราฆ่าฟัน ก่อให้เกิดสงคราม หมดสิ้นสันติสุข

ผลึกดวงที่สาม ความอดอยากยากแค้น (Famine) ม้าสีดำ คนขี่ถือตราชั่ง
ตราชั่ง ในที่นี้น่าจะมีความหมายนัยกลับจากยุติธรรม เป็น อยุติธรรม คือ ยามข้าวยากหมากแพง ของทุกอย่างต้องซื้อหามาด้วยราคาที่สูง โก่งตรงชั่ง

ผลึกดวงที่สี่ ความตาย (Death) ม้าสีซีด(สีเขียวจางๆ) คนขี่คือยมฑูต
ยมฑูตก็คือความตาย ผลึกดวงนี้แหละหมายถึง โรคระบาด กล่าวคือ ไปถึงที่ใดก็มีแต่ความตายเกิดขึ้น

ลองมาดูเหตุผลสนับสนุนแนวคิดนี้กัน หากลำดับเหตุการณ์ตามผลึกสี่ดวงแรกแล้ว น่าจะเป็นไปตามลำดับขั้นดังนี้คือ เริ่มจากเกิดการทะเละเบะแว้งแก่งแย่งชิงดีกัน แล้วก่อให้เกิดกลายเป็นสงคราม โดยในระหว่างสงครามและภายหลังสงครามวัตถุปัจจัยต่างๆ ย่อมหายาก ขาดแคลนทุกหัวระแหง เมื่อขาดแคลนผู้คนย่อมอ่อนแอ ก็ก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บง่ายและแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว
ซึ่งทั้งหมดนั่นก็สอดคล้องตรงกับเหตุและผลในหลักของความเป็นจริง


สำหรับผลึกอีกสามดวงที่เหลือคือ
ผลึกดวงที่ห้า วิญญาณใต้แท่นบูชา กล่าวกันว่าพระเจ้าจะมอบเสื้อขาวให้แก่พวกเขา และรอให้ครบจำนวน
นี่กระมังที่เป็นสาเหตุให้ภูตผีของชาติตะวันตกจะเป็นผ้าสีขาว

ผลึกดวงที่หก มหันตภัย จะเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง กลางวันกลับมืดมิด กลางคืนดวงจันทร์ทอแสงเป็นสีเลือด

ผลึกดวงที่เจ็ด เทวฑูตทั้งเจ็ด ความเงียบเข้าครอบคลุมสวรรค์ประมาณครึ่งชั่วโมง จากนั้นเทวทูตทั้ง 7 องค์จะได้รับแตร 7 อัน หากแต่มีอยู่หนึ่งองค์ที่จะถือกระถางไฟทองคำมาด้วยและเตรียมที่จะโยนมันลงมายังโลก เพื่อเผาผลาญคนชั่วให้สิ้นซาก

หวังว่าบทความชิ้นนี้คงจะมีประโยชน์แก่ท่านผู้อ่านบ้างไม่มากก็น้อย ขอขอบคุณที่ติดตามอ่าน...monsoon


.. ชื่อหนังสือวิวรณ์ แปลว่าการเปิดเผยซึ่งมาจากคำภาษากรีกอะพอคาลิปส์
หนังสือวิวรณ์ (อังกฤษ: Book of Revelation) เป็นหนังสือเล่มที่ 27 หรือเล่มสุดท้ายในคัมภีร์ไบเบิลภาคพันธสัญญาใหม่ ซึ่งในตอนที่สี่ที่เป็นการพยากรณ์ มีหนังสือเล่มนี้เพียงเล่มเดียว

ผู้เขียนระบุชื่อของตนเองอย่างชัดเจนว่าชื่อ ยอห์น และอาศัยอยู่ที่เกาะปัทมอส คริสต์ศาสนิกชนเชื่อว่าเป็นยอห์นเดียวกับยอห์นอัครทูตและยอห์นผู้นิพนธ์พระวรสาร แต่จากการศึกษาด้านวิธีการประพันธ์ เนื้อหาทางเทววิทยา และการใช้ศัพท์ ที่ทั้งสามเล่มใช้แตกต่างกัน นักวิชาการจึงลงความเห็นว่าบุคคลทั้งสามไม่ใช่คนเดียวกัน จึงเรียกผู้เขียนหนังสือวิวรณ์ว่ายอห์นแห่งปัทมอสตามที่ระบุในหนังสือนั้น ยอห์นแห่งปัทมอสระบุว่าได้เขียนขึ้นขณะที่อยู่บนเกาะปัทมอส อันเป็นสถานที่ซึ่งได้ถูกเนรเทศมาและได้อยู่ที่นั่นจนสิ้นชีวิต ช่วงเวลาในการเขียนพระธรรมเล่มนี้น่าจะอยู่ในราวปีค.. 95


ที่มา https://th.wikipedia.org/wiki/หนังสือวิวรณ์

No comments:

Post a Comment