Sunday, August 11, 2024

รถถังเบา Zorawar ของอินเดีย

ถ้าท่านเป็นผู้ที่นิยมอาวุธยุทโธปกรณ์ก็คงพอจะคุ้นภาพกับรถถังหลัก Arjun ที่ประเทศอินเดียสร้างขึ้นเองโดยใช้เวลาในการสร้างกว่าสามสิบปี และไม่เป็นที่ประทับใจของกองทัพ จนภายหลังต้องไปซื้อรถถังรัสเซีย T-90 มาผลิตภายในประเทศ

แต่วันนี้จะพาไปพบกับปรากฏการณ์หน้าใหม่ของประวัติศาสตร์การสร้างรถถังของอินเดีย นั่นคือรถถังเบาแบบใหม่ของอินเดียชื่อ Zorawar

ที่แม้ว่าเส้นทางรถถังเบาของอินเดียจะล้มลุกคลุกคลานมาถึง 30 ปีแต่รถถังเบา Zorawar ก็ใช้เวลาสร้างเพียงแค่ไม่กี่ปี ต่างกับรถถัง Arjun โดยสิ้นเชิง

เรื่องของรถถังเบาอินเดียนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะในอดีตประเทศอินเดียโดยองค์การวิจัยและพัฒนากลาโหม หรือ DRDO - Defence Research and Development Organisation ได้วิจัยพัฒนามาแล้วสองรุ่นโดยไม่สนใจเสียงของกองทัพ แบบว่าทำโดยไม่ปรึกษาหารือในเรื่องความต้องการของกองทัพ สุดท้ายก็คือผลาญงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์

รถถังเบาคันแรกที่ DRDO ได้ออกแบบในช่วงกลางทศวรรษ 1980 ก็คือ DRDO ได้เปลี่ยนป้อมปืนของ BMP-II ด้วยปืนใหญ่ 105 มม. แต่โครงการยุติลงในปีพ.ศ. 2537(1994) 


DRDO ได้ออกแบบรถถังเบาอีกคันที่ใช้แชสซี BMP-II อีกครั้งโดยครั้งนี้ได้ติดตั้งป้อมปืนพร้อมปืน 105 มม.GIAT TS-90 ของฝรั่งเศส พร้อม FCS กึ่งอัตโนมัติ มีการทดสอบการยิงและความเสถียร แต่อีกครั้งโครงการนี้ถูกเก็บเข้าลิ้นชักเนื่องจากกองทัพไม่แยแส

โครงการรถถังเบาเกิดขึ้นอีกครั้งในปีพ.. 2551 หลังจากที่นักวางแผนทางทหารของอินเดียเปลี่ยนการมุ่งเน้นเชิงกลยุทธ์จากปากีสถานไปยังภัยคุกคามความมั่นคงที่เกิดจากจีน ซึ่งได้รับการกำหนดให้เป็นศัตรูอันดับหนึ่งของประเทศ

สิ่งนี้กระตุ้นให้กองทัพบกอินเดียออกคำร้องขอข้อมูลทั่วโลก (RFI) ในปีพ.. 2552 สำหรับรถถังเบาแบบมีล้อ 200 คันและรถถังเบาติดตาม 100 คัน น้ำหนักคันละ 22 ตัน ซึ่งจำเป็นต้องมีแพลตฟอร์มที่สร้างขึ้นแบบโมดูลาร์ให้ 'มีความคล่องตัวสูง' พร้อมความสามารถในการเฝ้าระวังและการสื่อสารเพื่อดำเนินการหลาย ๆ วัตถุประสงค์

ตามข้อกำหนด Preliminary General Staff Qualitative Requirement (PGSQRs) ที่กำหนดโดยกองอำนวยการกองกำลังยานยนต์ของกองทัพบกในขณะนั้น ทั้งรถถังเบาล้อยางและตีนตะขาบ 8×8 จะต้องมีความสูง 2.8 เมตร และยาว 7.8 เมตร และจำเป็นต้องมีโครงร่างที่ต่ำและ ความสามารถสะเทินน้ำสะเทินบก

นอกจากนี้ PGSQR ยังระบุเพิ่มเติมว่าจำเป็นต้องติดตั้งปืนขนาด 105 มม. หรือ 120 มม. ซึ่งสามารถยิงจรวดได้หลายประเภท ชุดช่วยเหลือการป้องกันที่มีระยะห่างจากพื้นดินสูงซึ่งป้องกันอาวุธเลเซอร์ อาวุธนำวิถีด้วยความร้อนและเรดาร์ และการป้องกันนิวเคลียร์ ชีวภาพ และเคมี เป็นไปตามข้อกำหนดเฉพาะของรถถังที่คาดการณ์ไว้

รถถังจำเป็นต้องสามารถทำลายยานเกราะหุ้มเกราะที่มีการป้องกันสูงและรถถังหลักได้จากระยะไกลกว่า 2 กิโลเมตร สามารถยิงกระสุนต่อต้านรถถัง HE/AP และจรวดนำวิถีได้ และมีเทคโนโลยีควบคุมการยิงล่าสุด 


อย่างไรก็ตามโครงการรถถังเบาของอินเดียก็ไม่มีผลความคืบหน้าแต่อย่างใดจนกระทั่งการปรากฏตัวของรถถังภูเขาของจีน Type 15 (ZTQ-15 Black Panther) ที่มีรุ่นส่งออกเรียกว่า VT-5 เข้าประจำการในปลายปีพ.ศ. 2561 ด้วยเหตุนี้อินเดียถึงได้กลับมาให้ความใส่ใจเรื่องรถถังเบาอีกครั้ง

ในปีพ.ศ. 2564 อินเดียพิจารณาจัดหารถถังเบา Sprut SDM1 ขนาด 18 ตันเพื่อตอบโต้รถถังเบา type 15 ของจีน อินเดียมีความกระตือรือร้นที่จะจัดหา Sprut SDM1 ของรัสเซีย เนื่องจากมีปืนและกระสุนขนาด 125 มม. แบบเดียวกับ T-90 และ T-72

อย่างไรก็ตามสงครามยูเครนได้ส่งผลกระทบต่อการผลิตและการบำรุงรักษากองรถถังที่ผลิตโดยรัสเซียของอินเดีย ทำให้อินเดียจำเป็นต้องออกแบบและพัฒนารถถังเบาพื้นเมือง โดยอ้างถึงการยอมรับความจำเป็นของกระทรวงกลาโหมอินเดียซึ่งได้ออกคำร้องขอข้อมูลทั่วโลก (RFI) สำหรับ Indian Light Tank (ILT) ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2564 และรัฐบาลอินเดียได้อนุมัติโครงการรถถังเบาในเดือนกันยายน พ.ศ. 2565

การที่กองทัพบกอินเดียสามารถสรุป RFI ได้รวดเร็วก็น่าจะมาจากพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมจากหลักเกณฑ์ในคำร้องขอข้อมูลทั่วโลก (RFI) ปีพ.. 2552 ทำให้สามารถกำหนดความต้องการได้รวดเร็ว

โดยโครงการรถถังเบาของอินเดียในครั้งนี้มีบริษัทที่สนใจ เท่าที่ค้นหาได้มีดังนี้

  1. Kalyani Strategic Systems Ltd. (KSSL) (ถ่ายทอดเทคโนโลยีจากบริษัทสหรัฐอเมริกา)

  2. Larsen&Toubro(L&T) และ Soko(ไม่แน่ใจว่าจะเป็น MITSUI-SOKO รึเปล่า)
  3. Tata

  4. Mahindra
  5. AVNL (ร่วมมือกับโรงงานสรรพาวุธรัสเซีย)

  6. DRDO และ Larsen&Toubro(L&T)

ในเวลาต่อมาองค์การวิจัยและพัฒนาด้านกลาโหมของอินเดีย (DRDO) ก็ได้เปิดเผยแบบจำลองของรถถังเบาที่ได้รับการพัฒนาสำหรับกองทัพอินเดีย 

โมเดลดังกล่าวได้รับการจัดแสดงที่งาน DefExpo 2022 ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองคานธีนคร ระหว่างวันที่ 18 – 22 ตุลาคม พ.ศ. 2566 โดยมีบริษัท Larsen & Toubro เป็นผู้นำในโครงการ ซึ่งก็หมายถึงผู้ชนะโครงการนี้ก็คือ DRDO และ Larsen&Toubro(L&T)

ข้อมูลการออกแบบรถถังเบาของ DRDO ถูกเปิดเผยในงาน DefExpo 2022 คือรถถังเบาจะมีการออกแบบภายในประเทศและไม่ได้อิงจากตัวถัง K-9 Vajra ตามที่มีหลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ จะมีน้ำหนักรบประมาณ 25 ตัน มีกำลังพล 3 คนและสามารถขนส่งทางอากาศ ทางรถไฟ หรือทางถนนได้อย่างง่ายดาย รถถังจะมีความสามารถสะเทินน้ำสะเทินบกเช่นกัน

รถถังรุ่นนี้มีการป้องกันแบบโมดูลาร์พร้อมเกราะแบบติดน็อตและสามารถติดตั้งเพิ่มได้ ด้านหน้าของถังเอียง 60 องศาจะมีการป้องกัน STANAG ระดับ 4 และ STANAG 2 ที่อื่น

ปืนดังกล่าวจะประกอบไปด้วยปืนรถถังแรงดันสูง 105 มม. และปืนกลร่วมแกน 7.62 มม. ปืนขนาด 105 มม. ที่ถูกนำเสนอคาดว่าจะผลิตโดยบริษัท John Cockerill Defence SA ของเบลเยียม ซึ่งสามารถยิงได้ในมุมสูง 42 องศา ซึ่งเหมาะสำหรับการสงครามบนภูเขา

รถถังเบาจะติดตั้งเครื่องยนต์ที่สามารถปฏิบัติการในพื้นที่สูงโดยมีกำลัง 1,000 แรงม้า และสามารถยิงกระสุนได้หลายประเภท ขณะนี้มีเครื่องยนต์สามเครื่องที่กำลังถูกสำรวจสำหรับรถถังเบา ซึ่งได้แก่ MTU ของเยอรมนี, Caterpillar และ Cummins ของสหรัฐอเมริกา

สำหรับชุดส่งกำลัง มีสองตัวเลือกที่กำลังได้รับการประเมิน ได้แก่ Renk จากเยอรมนี และบริษัท Allison ของอังกฤษ

========================

และแล้ววันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2657 ต้นแบบของรถถังเบา Zorawar ที่สร้างภายในประเทศของอินเดียก็เปิดตัวที่โรงงาน Hazira ของบริษัท L&T ในรัฐคุชราต

เท่ากับว่าใช้ระยะเวลาสร้างเพียงแค่สองปีนับแต่รัฐบาลอินเดียอนุมัติโครงการ


ทำให้มีข้อมูลปรากฏเพิ่มเติมมากขึ้น ดังนี้

รถถังเบา Zorawar
พลประจำรถ 3 นาย
น้ำหนัก 25 ตัน
ติดตั้งเครื่องยนต์ 
Cummins ของอเมริกาขนาด 1,000 แรงม้า
ติดตั้งป้อมปืน COCKERILL-3105 ขนาด 105 มม. ลำกล้องเรียบของเบลเยี่ยม

ติดตั้งเครื่องยิงจรวดต่อต้านรถถัง และโดรนกามิกาเซ่
ติดตั้งเครื่องยิงกระสุนควัน
ติดตั้งระบบป้องกันระยะประชิด APS สามารถเลือกใช้ได้ทั้งแบบ soft kill และ hard kill
ติดตั้งเกราะแบบ passive ด้านหน้าเอียง 60 องศาด้านหน้าของถังจะมีการป้องกัน STANAG ระดับ 4 และ        เกราะระดับ stanag lv.3 ด้านบนและล่างตัวรถ
ติดตั้งเกราะรอบตัวรถแบบ hybrid/composite
ติดตั้งระบบสงครามอิเลคโทรนิค ECM
ติดตั้งระบบสงครามอิเลคโทรนิค ECCM
ติดตั้งระบบเตือนภัยจากจรวด
ติดตั้งระบบเตือนภัยจากเลเซอร์

จากการสั่งซื้อครั้งแรกของกองทัพบกอินเดียสำหรับรถถังเบา Zorawar จำนวน 59 คันจาก 354 คัน รถถังที่เหลืออีก 295 คันได้ถูกสงวนไว้สำหรับการพัฒนาที่นำโดย DRDO และจะถูกผลิตภายใต้โครงการออกแบบและพัฒนาที่ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลสำหรับอุตสาหกรรมอินเดียในประเภท Make-1 ของ Defense Acquisition Procedure (DAP)

=======================================

แม้ว่าเส้นทาง Indian Light Tank (ILT) รถถังเบาของอินเดียจะใช้เวลาถึงสามสิบกว่าปี คือเริ่มต้นตั้งแต่กลางทศวรรษ 1980(ราวพ.ศ.2530) จวบจนปีพ.ศ.2567 แต่ใช้เวลาสร้างรถถังคันต้นแบบในเวลาเพียงสองปี

เมื่อคันต้นแบบออกมาให้โลกได้ยลโฉมก็เผชิญเสียงกระแซะจากสังคมออนไลน์ของคู่ปรับเก่าคือปากีสถานว่าหน้าตาน่าเกลียดมาก อันนี้ก็ธรรมดาตามธรรมชาติของโลกเพราะตอนที่รถถัง T-84 Oplot ไทยก็โดนแซะเรื่องกระป๋องสีบนป้อมปืน แล้วตอนนี้ล่ะกระป๋องสีเกลื่อนบนรถถังรุ่นใหม่ทั้งหลายรวมทั้งเจ้า Zorawar นี้ด้วย

รถถังเบา Zorawar ของอินเดียนี้ถูกออกแบบมาเพื่อเป็นคู่ต่อกรกับรถถังเบา Type 15 ของจีนดังนั้นคุณลักษณะตามเอกสารจึงเหนือกว่ารถถังเบาของจีน ชนิดที่เรียกว่าเกทับหมดหน้าตัก โดยอย่าพิจารณากันแค่รูปร่างหน้าตา

วัดกันตัวต่อตัวแล้ว
น้ำหนักเบากว่าถึงห้าตัน (25 ตัน vs 30 ตัน)
เกราะป้องกันรอบคัน รวมทั้งด้านบนและล่างของตัวรถ
โดยเฉพาะเครื่องยิงจรวดต่อต้านรถถังและกามิกาเซ่โดรน

อย่างไรก็ตามการเกทับด้านเทคนิคบนกระดาษจะพิสูจน์ได้จากสนามรบจริงดังนั้นรอจับตาดูกันต่อไปว่ารถถังเบาอินเดีย Zorawar กับรถถังเบาจีน ZTQ 15 (หรือ Type 15) เมื่อพบกันในสนามรบผลของการปะทะจะเป็นอย่างไร

========================

ทิ้งท้ายกันนิดหนึ่งว่ารถถังที่อินเดียมีประจำการอยู่ในขณะนี้มีอะไรบ้าง

ปัจจุบันกองทัพบกอินเดียปฏิบัติการรถถังหลัก T72M1 'Ajeya' ของรัสเซียที่สร้างด้วยใบอนุญาตจำนวน 3,500 คัน

และนำเข้าโดยตรง ประกอบและสร้างแพลตฟอร์ม T90S 'Bhishma' โดยตรง ควบคู่ไปกับ MBT Arjun Mk1 พื้นเมือง 124 คัน

มีการสั่งซื้อรถยนต์รุ่น Arjun Mk1A อีก 118 คัน มูลค่า 8,350 สิบล้านรูปีจากโรงงานยานพาหนะหนักของรัฐที่ Avadi ใกล้เมืองเจนไน

ถ้ารวมรถถังเบา Zorawar เข้าไปอีกแบบหนึ่ง การสำรองอะไหล่รวมถึงการส่งกำลังบำรุงคงหลากหลายน่าดู

No comments:

Post a Comment