เฟซบุ้คเพจ

เพิ่มเติมอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับช่องสื่อสารผ่านเฟสบุค https://www.facebook.com/monsoonphotonewspage/ ด้วยข่าวสั้นจากสำนักข่าวต่างๆ ทั่วโลก รวดเร็วทันเหตุการณ์

Saturday, March 5, 2022

ผู้ชนะสิบทิศ 2022

ประธานาธิบดีปูตินของรัสเซียเป็นผู้ที่มีความจงรักภักดีต่อชาติอย่างสูงสุดคนหนึ่ง เมื่อภายหลังสหภาพโซเวียตล่มสลายในขณะนั้นก็มีความปรารถนาเพียงอย่างเดียวคือต้องการจะนำรัสเซียกลับมาให้ยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง (ปฏิภาณของเขา ฟังดูพอคุ้นๆกันบ้างไหมตอนปี 2016) เขาไต่เต้าขึ้นมาจนได้เป็นประธานาธิบดีของรัสเซียเพื่อทำความฝันของเขาให้เป็นจริง

ณ เวลานี้ ประธานาธิบดีปูติน อาจจะเป็นผู้ชนะสิบทิศแห่งยุค ถ้าพิชิตยูเครนได้แต่ก็ต้องบอบช้ำถึงขั้นพิการ ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น มาดูในรายละเอียดกัน


บทนำ

เพื่อให้ทุกคนได้เห็นภาพรวมและเข้าใจตรงกัน ก็คงต้องท้าวความคร่าวๆ ย้อนไปถึงสาเหตุของวิกฤตในครั้งนี้ ความจริงความตึงเครียดมีมาตลอดมาตลอดตั้งแต่ปี 2014 โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังวันที่ 12 มิถุนายน 2020 เมื่อยูเครนเข้าร่วมโปรแกรมทำงานร่วมกับนาโต้ เพื่อปูทางการเข้าเป็นสมาชิก

ช่วงต้นปีที่แล้ว 31 มีนาคม 2021 กองบัญชาการสหรัฐภาคพื้นยุโรปได้ยกระดับจาก การรับทราบภัยคุกคาม เป็น วิกฤตที่อาจจะเกิดขึ้น เนื่องจากการประเมินพบว่ามีกองกำลังทหารรัสเซียมากกว่า 1 แสนนายตามพรมแดนยูเครนและในแหลมไครเมีย นอกเหนือจากกองทัพเรือในทะเลอาซอฟ
ทั้งนี้เป็นเพราะเกิดการสู้รบที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็วตามแนวแบ่งแยกกองกำลังยูเครนกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่รัสเซียหนุนหลังในดอนบาส

ต่อมาวันที่ 13 เมษายน 2021 รัฐมนตรีกลาโหมรัสเซียกล่าวว่ามีการระดมพลเพื่อซ้อมรบ เป็นการตอบสนองต่อภัยคุกคามจากนาโต้ โดยในขณะนั้น นาโต้ได้เตรียมการซ้อมรบ defender 21 อันประกอบไปด้วยกำลังพลประมาณ 30,000 นายจาก 27 ประเทศ

ทั้งนี้รัสเซียอ้างว่าสหรัฐและนาโต้ มีการซ้อมรบ มากขึ้นถี่ขึ้น ใกล้บริเวณชายแดนของรัสเซีย โดยในประเด็นหนี้สหรัฐ ได้ขอประชุมเจรจาหารือกับรัสเซีย แต่รัสเซียปฏิเสธเข้าร่วมการเจรจา

วันที่ 22 เมษายน 2021 รัฐบาลรัสเซียดูเหมือนจะลดความตึงเครียดลง โดยประกาศยกเลิกการฝึกและสั่งให้กองทหารกลับไปยังกรมกองภายในวันที่ 1 พฤษภาคม แต่ก็ยังคงอุปกรณ์และอาวุธจำนวนมากไว้ที่ Pogonovo ซึ่งเป็นพื้นที่ฝึกทหาร อยู่ห่างไป 17 กิโลเมตรทางใต้ของ Voronezh กล่าวว่าจะนำมาใช้ในการฝึกซ้อม Zepad ประจำปีของรัสเซียและเบลารุสในเดือนกันยายน



เดือนกันยายน 2021 รัสเซียใต้ก่อสร้างท่อส่งแก๊ส Nord Stream2 แล้วเสร็จ แต่ยังไม่สามารถเปิดใช้งานได้เพราะต้องรอผ่านการตรวจและรับใบอนุญาตจากหน่วยงานของเยอรมันก่อน ประกอบกับสหรัฐฯ แทรกแซงเพราะเกรงว่ารัสเซียจะให้เป็นอาวุธต่อรองชาติในยุโรปที่ต้องพึงพาแก็สจากรัสเซีย




ยูเครนซึ่งไม่เห็นด้วยกับท่อส่งแก๊ส Nord Stream2 ของรัสเซียมาตลอด เนื่องจากทำให้ยูเครนสูญเสียรายได้จากค่าธรรมเนียมท่อส่งแก็ส ประเทศยูเครนมีรายได้มหาศาลจะท่อส่งแก็สที่ทอดผ่านประเทศอันประกอบไปด้วย Brotherhood, Soyuz, และ Yamal-Europe 



ในปลายเดือนตุลาคม 2021 ยเครนเริ่มปฏิบัติการทางทหารในดอนบาสด้วยการส่งโดรน Bayraktar TB2 ที่ซื้อจากตุรกีเข้าปฏิบัติการเป็นครั้งแรก ด้วยการโจมตีที่ตั้งปืนใหญ่ของฝ่ายแบ่งแยกดินแดน พร้อมทั้งเตรียมกำลังพลบริเวณใกล้เขตดอนบาส 

ซึ่งการใช้โดรนโจมตี Bayraktar TB2 นั้นเป็นการผิดข้อตกลง Minsk ที่ยูเครนได้ลงนามไว้ในเดือนกันยายน 2014 ที่อนุญาตให้ใช้โดรนได้เฉพาะภารกิจของ OSCE เท่านั้น ( The organisation of Security and Operation in Europe - องค์การเพื่อความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป)

ทางฝ่ายรัสเซียก็เริ่มส่งอาหารอาวุธยุทโธปกรณ์และกำลังพล เคลื่อนเข้ามาตามแนวชายแดนของยูเครนและในเบลารุสอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่ารัสเซียคงได้ตัดสินใจไปแล้วที่จะโจมตียูเครนแล้วเพราะยูเครนละเมิดข้อตกลง Minsk รวมทั้งความพยายามของยุเครนที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกของนาโต้

วันที่ 12 ธันวาคม 2021 ปธน.ไบเดนเปิดเผยว่าเขาบอกกับประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน ในระหว่างการประชุมทางวิดีโอของพวกเขาว่า ในกรณีเกิด "การรุกราน" วอชิงตันจะส่งกองกำลังไปยังบูคาเรสต์ 9 ประเทศ ได้แก่ บัลแกเรีย ฮังการี ลัตเวีย ลิทัวเนีย โปแลนด์ โรมาเนีย สโลวาเกีย สาธารณรัฐเช็กและเอสโตเนีย

ต่อมากลุ่มประเทศนาโต้ก็ออกมาประกาศในแนวทางเดียวกันว่าจะไม่ส่งกำลังทหารเข้าไปในยูเครนหากเกิดสงครามกับรัสเซีย ทั้งนี้ เพราะประเทศยูเครนไม่ใช่ประเทศสมาชิกของกลุ่มนาโต้ แต่จะสนับสนุนช่วยเหลือยูเครนด้านอื่น ทำให้สถานการณ์ของยูเครนตกเป็นรอง และ กลายมาเป็นฝ่ายตั้งรับการบุกของกองทัพรัสเซียอย่างเพียงลำพัง ปธน.Volodymyr Zelenskyy ของยูเครนได้ออกมาประกาศขอให้นานชาติส่งอาวุธมาช่วยเหลือ

วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2522 กองทัพรัสเซียเปิดฉากสงครามบุกยูเครน โดยใช้เฮลิคอปเตอร์และจรวดร่อน โจมตีเป้าหมายทางทหารเช่นสถานีเรดาร์ ระบบต่อต้านอากาศยานเครื่องบินรถถังและที่ตั้งทหารของยูเครน ทางภาคพื้นก็ใช้หน่วยรบยานหุ้มเกราะเป็นหัวหอกในการรุก โดยมีปืนใหญ่อัตตาจรและรถถังเป็นหน่วยสนับสนุน

ความผิดพลาดในการวางแผนดำเนินกลยุทธ์ของรัสเซียเกิดให้เห็นในตอนนี้ เนื่องจากฝ่ายรัสเซียคงประเมินสภาพการรบไว้ต่ำว่าจะต้องเผชิญหน้ากับกำลังทหารของยูเครนแค่นั้น เหมือนเช่นตอนรัสเซียผนวกไครเมีย และยึดเมืองโดเนตสก์และลูฮันสก์ เพราะในตอนนั้นประชาชนในพื้นที่ต่างออกมาต้อนรับสนับสนุนทหารของรัสเซีย

ชาวยูเครนออกมาปิดกั้นถนน


แต่ครั้งนี้ประชาชนชาวยูเครน บางส่วนออกมาขัดขวางและต่อต้านการเคลื่อนกำลังของทหารรัสเซีย บางส่วนก็จับอาวุธขึ้น ต่อสู้ ทำให้ทหารรัสเซียเกิดความสับสนไม่รู้ว่าจะปฏิบัติอย่างไรต่อประชาชนยูเครนเหล่านั้น อาจเป็นเพราะทหารรัสเซียได้รับคำสั่งให้จำกัดการปฏิบัติทางทหารกับเป้าหมายทางทหารเท่านั้นจึงไม่กล้าลงมือกับประชาชนพลเรือน

ประเด็นนี้เห็นได้จากช่วงแรกของการบุก รัสเซียไม่ได้โจมตีต่อเป้าหมายพลเรือน ทำให้หน่วยยานเกราะที่รุกคืบหน้าลึกเข้าไปในดินแดนของยูเครนนั้นขาดการส่งกำลังบำรุง เพราะหน่วยสนับสนุนกำลังบำรุงที่ตามมาข้างหลัง ถูกทำลาย ถูกซุ่มโจมตีหรือถูกขัดขวาง เป็นเหตุให้ทหารรัสเซียส่วนหน้าต้องละทิ้งพาหนะและอาวุธยุทโธปกรณ์ ดังปรากฏในภาพข่าวต่างๆ


เมื่อการรบผ่านไปได้ 1 สัปดาห์ ฝ่ายยูเครนยังยืนหยัดต่อต้านชะลอการบุกของรัสเซียอย่างสุดความสามารถ ทำให้รัสเซียต้องขยายการปฏิบัติการทางทหาร สู่เป้าหมายพลเรือนและเศรษฐกิจของยูเครน โดยจะเห็นคลิปใน Facebook แสดงเครื่องบินรบของรัสเซียยิงจรวดเข้าใส่อาคารบ้านเรือนของประชาชน มีการยิงปืนใหญ่ถล่มที่ทำการของรัฐซึ่งอยู่ในเขตชุมชน รวมทั้งการทิ้งระเบิดสูญญากาศ(ต้องห้าม) และระเบิดขนาดต่างๆ

การโจมตีต่อเป้าหมายพลเรือน


ผลที่ตามมา

ได้เห็นภาพรวมๆ ของสาเหตุวิกฤตการณ์ในครั้งนี้แล้ว คราวนี้เรามาดูผลจากการบุกประเทศยูเครนกันบ้างว่ารัสเซียได้รับผลกระทบที่ตามมาอย่างไร

รัสเซียได้รับผลกระทบรอบด้านจากการบุกยุเครน ทั้งด้านการเงิน การกีฬา เศรษฐกิจและความมั่นคง

ด้านการเงิน

รัสเซียถูกตัดออกจากระบบ Swift (สังคมโทรคมนาคมทางการเงินโลก - Society for Worldwide Interbank Financial Telecommunication) ทำให้ไม่สามารถทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศได้ รัสเซียต้องปิดธนาคารในทวีปยุโรปเนื่องจากผู้คนขาดความเชื่อมั่นต่างพากัน ไปถอนเงินออกจากบัญชี ทำให้ธนาคารต่างๆของรัสเซียเสี่ยงต่อการล้มละลาย

ธนาคาร SBER ของรัสเซียในฝรั่งเศส

นอกจากนี้ยังมี การยึดทรัพย์สินของชาวรัสเซีย ทำให้เศรษฐีชาวรัสเซียต่างก็โยกย้ายทรัพย์สินออกไปยังประเทศที่เป็นพันธมิตรหรือเป็นกลาง ณเวลานี้ มีข่าวออกมาว่าเรือยอร์ของเศรษฐีรัสเซีย
2 คนถูกยึดอยู่ในประเทศฝรั่งเศสและเยอรมัน โดยมีเรือยอร์ชอื่นๆอีกอย่างน้อย 5 ลำของเศรษฐีชาวรัสเซีย จอดทอดสมอลอยลำอยู่นอกฝั่งเกาะมัลดีฟ


เรือยอร์ช Dilbar ขนาด 512 ฟุตมูลค่า US$600 ล้านของนาย  Alisher Usmanov ถูกยึดที่เยอรมัน

ด้านการกีฬา

คณะกรรมการโอลิมปิกสากล ได้ออกมาเรียกร้องให้สมาพันธ์กีฬานานาชาติทุกประเภท รวมไปถึงองค์กรที่เกี่ยวข้องทำการยกเลิกการแข่งขันกีฬาที่จัดขึ้นในประเทศรัสเซียและเบลารุส โดยขณะนี้องค์กรกีฬาที่แบนรัสเซียแล้วมีดังนี้

สหพันธ์เทควันโดสากล ปลดสายดำกิตติมศักดิ์ที่มอบให้กับปูติน

สหพันธ์ฟุตบอลระหว่างประเทศ FIFA และสหภาพสมาคมฟุตบอลยุโรป UEFA ประกาศแบนทีมฟุตบอลระดับสโมสรและทีมชาติของรัสเซียจากการแข่งขันทุกรายการ

สหพันธ์ฮอกกี้น้ำแข็งนานาชาติ (IIHF - International Ice Hockey Federation) และ สหพันธ์ฮอกกี้นานาชาติ(FIH)

สหพันธ์ยูโดนานาชาติ (IJF - International Judo federation)

สหพันธ์เทนนิสนานาชาติ (ITF)

สหพันธ์แบดมินตันโลก (BWF - Badminton World Federation)

สภากีฬายานยนต์โลก และสหพันธ์ยานยนต์นานาชาติ (FIA ผู้จัดการแข่ง Formula One)

สหพันธ์วอลเลย์บอลนานาชาติ (FIVB) และสหพันธ์วอลเลย์บอลแห่งยุโรป (CEV)

สมาพันธ์ซอฟต์บอลโลก (WBSC)

สหพันธ์บาสเกตบอลนานาชาติ (FIBA)

สหพันธ์ปัญจกรีฑาสมัยใหม่นานาชาติ (UIPM)

สหพันธ์พายเรือโลก ( World Rowing Federation)

สหพันธ์สเก็ตนานาชาติ ( International Skating Union)

สหพันธ์ว่ายน้ำนานาชาติ (FINA)

รักบี้โลก (World Rugby)

เรือใบโลก (World Sailing)

ไตรกีฬาโลก (World Triathlon)



ด้านเศรษฐกิจ

ประเทศต่างๆ ทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ห้ามไม่ให้เครื่องบินพาณิชย์และเครื่องบินโดยสารบินเข้าน่านฟ้า รัสเซียก็โต้ตอบด้วยการห้ามสายการบินจาก 36 ประเทศที่คว่ำบาตรรัสเซียเข้าน่านฟ้าของตนเช่นกัน

บริษัทขนส่งสินค้าทางเรือรายใหญ่ของโลก คือ Maersk ของเดนมาร์ก MSC ของสวิตเซอร์แลนด์และ CMA CGM ของฝรั่งเศส ประกาศไม่ขนสินค้าของรัสเซีย

เยอรมันระงับแผนการดำเนินงานโครงการท่อส่งแก็ส Nord Stream2

บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของโลก คือ Shell, ExxonMobil และ BP ระงับการลงทุนด้านพลังงานในรัสเซีย

บริษัท Intel และ AMD หยุดการส่งชิปเซมิคอนดักเตอร์ให้กับรัสเซีย นอกจากนี้สหภาพยุโรป เกาหลีใต้ ไต้หวัน นิวซีแลนด์และญี่ปุ่นห้ามส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีไปยังรัสเซีย

Apple และ Ikea ระงับการขายผลิตภัณฑ์ทั้งหมดในรัสเซีย

นอกจากนี้หลายประเทศยังคว่ำบาตรสินค้าของรัสเซีย ไม่ซื้อสินค้าของรัสเซีย ส่วนที่วางมีวางขายอยู่ก็ถูกนำไปเก็บหรือทำลาย



ด้านความมั่นคง

การที่รัสเซียบุก ยูเครน ทำให้ประเทศเพื่อนบ้าน ตื่นตระหนก และได้ตระหนักถึงภัยคุกคาม ทำให้หลายประเทศแสดงออกซึ่งท่าทีต่อการบุกยูเครน คือ ประเทศมอลโดวา สมัครเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) ตามยูเครน ภายหลังที่ประธานาธิบดีของเบลารุสเปิดเผยโดยไม่ตั้งใจถึงคำแนะนำให้ปูตินโจมตีประเทศ Moldova ด้วย ซึ่งการสมัครเข้าสหภาพยุโรปนับเป็นก้าวแรกของการเข้ากลุ่มนาโต้




ประเทศฟินแลนด์ และสวีเดน ซึ่งเป็นประเทศที่วางตัวเป็นกลาง ก็อาจจะสมัครเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มนาโต้ เพราะปธน.ปูตินก็เคยกล่าวเตือนทั้งสองประเทศว่าอย่าได้เข้าเป็นสมาชิกกลุ่มนาโต้ เหมือนกันกับที่กล่าวต่อยูเครน ดังนั้นการบุกยูเครนย่อมเป็นแรงผลักดันให้ประเทศทั้งสองยิ่ต้องงพิจารณาการเข้าร่วมกลุ่มนาโต้มากขึ้น



นอกจากนี้ก็ยังศึกภายในที่ฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง กลุ่มผู้เสียประโยชน์ กลุ่มที่เป็นปรปักษ์ ย่อมฉกฉวยโอกาสนี้ในการต่อต้านปูติน


บทสรุป

มีเพจใน FB เขียนไว้ว่าการที่ปูตินกลัวการแพร่ขยายของกลุ่มนาโต้ก็เพราะ ในอดีต ประเทศรัสเซียเคยถูกรุกรานใหญ่ๆ 2 ครั้งซึ่งทั้งสองครั้งมาจากการรุกรานของประเทศยุโรปตะวันตกทั้งสิ้น คือ 

  1. จักรพรรดินโปเลียนแห่งฝรั่งเศส
  2. ฮิตเลอร์แห่งเยอรมัน 

ดังนั้นรัสเซียจึงยอมไม่ได้ที่จะให้นาโต้ประชิดถึงหน้าบ้าน ด้วยเหตุนี้ปธน.ปูตินต้องรีบยึดยูเครนให้ได้โดยเร็วที่สุดและสถาปนารัฐบาลเพื่อลดความเสียหาย เพราะมาตรการกีดกันหรือปิดกั้นต่างๆ จะส่งผลในระยะยาว

พิจารณาได้จากการเจรจาที่บริเวณชายแดนประเทศเบลารุสครั้งแรก ซึ่งระหว่างที่เปิดการเจรจา ทหารรัสเซียก็ยังเดินหน้าถล่มยูเครนอย่างหนักต่อไปไม่ได้หยุด

เมื่อวานนี้ปธน.ปูตินได้ออกมาประกาศว่าประเทศใดที่ sanction รัสเซีย ก็เท่ากับประกาศสงครามกับรัสเซีย แสดงให้เห็นถึง ความร้ายแรงในผลกระทบของมาตรการลงโทษ จึงทำให้รัสเซียต้องขยายแนวป้องกันเพิ่มขึ้นจากการแทรกแซงทางทหารแล้วยังครอบคลุมรวมไปถึงมาตรการลงโทษต่อรัสเซียด้วย



และที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น จะเห็นได้ว่าประธานาธิบดีปูตินถูกรุมล้อมจากศึกรอบด้านทั้งภายในและภายนอก ดังนั้นหลังการศึกครั้งนี้เมื่อปูตินยึดยูเครน ก็เรียกได้ว่า เป็น “ผู้ชนะสิบทิศ 2022” ได้อย่างเต็มปาก แต่ก็ต้องบอบช้ำอย่างหนักหรือพิการ(คำเปรียบเปรย)




บทส่งท้าย

อีกประเด็นหนึ่งที่จะทิ้งท้ายไว้ก็คือ สงครามนิวเคลียร์

เส้นเวลาของหัวข้อนี้มีดังนี้

วันที่ 14 ธันวาคม 2021 ท่ามกลางความตึงเครียดระหว่างยูเครนรัสเซีย มอสโกได้ขู่ว่าจะติดตั้งจรวดนิวเคลียร์พิสัยกลางในยุโรป

วันที่ 18 กุมภาพันธ์ มีข่าวออกมาว่า ประธานาธิบดีปูติน อาจจะควบคุมศูนย์บัญชาการจรวดขีปนาวุธของรัสเซียด้วยตนเอง

วันที่ 22 ธันวาคม 2521 ประธานาธิบดีปูตินก็ได้ ออกมากล่าวเตือนสหรัฐและ กลุ่มนาโต้ ว่าอาจเกิดสงครามนิวเคลียร์ หากเข้ามายุ่งเกี่ยวกับสถานการณ์ประเทศยูเครน โดยปูตินพูดว่ารัสเซียไม่มีที่ให้ถอยอีกแล้ว

วันที่ 24 กุมภาพันธ์ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของฝรั่งเศสได้ออกมากล่าวตอบโต้ประธานาธิบดีปูตินทีขู่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์ ว่ารัสเซียก็ต้องเข้าใจด้วยว่ากลุ่มนาโต้ก็มีอาวุธนิวเคลียร์เหมือนกัน

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2022 ประธานาธิบดีปูติน ได้สั่งหน่วยอาวุธนิวเคลียร์ให้เตรียมพร้อมขั้นสูงสุด

จากเส้นเวลาเรื่องนี้จะเห็นพัฒนาการในความเสี่ยงของสงครามนิวเคลียร์ ซึ่งวันนี้ปธน.ปูตินก็ออกมาแถลงข่าวตอบโต้มาตรการลงโทษรัสเซียต่อการบุกยูเครน ในการตอบคำถามผู้สื่อข่าวปธน.ปูตินพูดย้ำถึงการแพร่ขยายของกลุ่มนาโต้ที่ก้าวรุกคืบมาถึงประตูหน้าบ้านรัสเซีย ทั้งที่เคยมีการพูดให้สัญญาว่าจะไม่มีการแพร่ขยายของนาโต้ แต่ก็เป็นการโกหกซึ่งหน้าทุกครั้งไป โดยสิ่งที่รัสเซียกระทำอยู่ในขณะนี้เป็นการป้องกันตนเองไม่ได้คุกคามใคร

การแถลงข่าวของประธานาธิบดีปูตินในวันนี้ แสดงให้เห็นถึงความกดดันที่เขากำลังเผชิญหน้าอยู่ ปูตินพยายามชี้ให้เห็นถึงความชอบธรรมของรัสเซียในการปกป้องตนเอง รวมทั้งแสวงหาผู้สนับสนุนในความชอบธรรมที่อ้างถึงนี้ เช่น การเรียกเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำกรุงมอสโกเข้าพบเพื่อสอบถามจุดยืนต่อกรณีการบุกยูเครน โดยตั้งคำถามต่อทูตฯ ว่าทำไมอิสราเอลถึงสนับสนุนพวกนาซี(ยูเครน)

สิ่งสำคัญที่ปรากฏให้เห็นคือ การพูดถึงการใช้อาวุธนิวเคลียร์ และความชอบธรรมของรัสเซียในการปกป้องตนเอง ดังนั้นเมื่อมาตรการลงโทษกดดันจนถึงที่สุด อันสุ่มเสี่ยงต่อการล่มสลายของรัสเซีย ผมเชื่อว่าปูตินก็พร้อมใช้อาวุธนิวเคลียร์แน่

เหตุผลสนับสนุนในเรื่องนี้ก็คงต้องย้อนกลับไปหลังการประท้วง Euromaidan ในยูเครนปี 2014 

รัสเซียได้ทำการปรับปรุงหลุมหลบภัยระเบิดนิวเคลียร์ในเมือง Kaliningrad กลางปี 2016 

แสดงถึงการเตรียมการไว้ล่วงหน้า ดังเช่นเดียวกับการวางอาวุธและยุทโธปกรณ์ไว้ในเมือง Pogonovo ปี2021

การปรับปรุงหลุมหลบภัยระเบิดนิวเคลียร์ในเมือง Kaliningrad

ยังมีอีกเรื่องที่นักวิเคราะห์และผู้ติดตามสถานการณ์ทั่วไปยังสงสัยคาใจกันอยู่ ก็คือ เหตุผลที่ปูตินตัดสินใจบุกยูเครนในตอนนี้ แท้จริงแล้วมาจากอะไร 

โดยมีการสร้างทฤษฎีกันขึ้นมาว่า ประธานาธิบดีปูตินอาจป่วย เป็นโรคร้ายใกล้ตาย จึงทำให้ต้องรีบทำความปรารถนาให้สุล่วง ทำปฏิธานที่ตั้งไว้ให้สำเร็จ

ทฤษฎีนี้เป็นแค่เรื่องซุบซิบในอินเทอร์เน็ตโดยไม่มีหลักฐานใดๆสนับสนุน แต่ถ้าเป็นความจริงขึ้นมา คำถามคือ เมื่อถึงวาระสุดท้ายแล้ว ปูตินจะจากไปเพียงคนเดียว หรือลากคนทั้งโลกไปด้วย 
นั่นก็จะเป็นคำตอบของคำถามที่ว่า จะเกิดสงครามนิวเคลียร์ขึ้นหรือไม่


ทิ้งท้ายกันแบบไม่น่าเชื่อถืออย่างนี้แหละ คลุมเครืออึมครึมดี

No comments:

Post a Comment