เฟซบุ้คเพจ

เพิ่มเติมอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับช่องสื่อสารผ่านเฟสบุค https://www.facebook.com/monsoonphotonewspage/ ด้วยข่าวสั้นจากสำนักข่าวต่างๆ ทั่วโลก รวดเร็วทันเหตุการณ์

Monday, November 26, 2012

เกร็ดความรู้เกี่ยวกับเครื่องบิน F-16

บทความเกร็ดความรู้เกี่ยวกับเครื่องบิน F-16 นี้ ผมเขียนให้กับหนังสือพิมพ์ไทยในท้องถิ่นมหานครนิวยอร์ค "Thai Good News" ฉบับเดือนธันวาคม 2012  เนื้อหาจะเป็นอย่างไร เชิญอ่านกันได้


เกร็ดความรู้เกี่ยวกับเครื่องบิน F-16
โดย.. monsoon


ห่างหายกันไปนาน ไม่ได้มานำเสนอข่าวคราวในวงการทหาร ส่งท้ายปีเก่าวันนี้ก็เลยนำความรู้เกี่ยวกับเครื่องบินทวิบท(Multi role) ลำที่เป็นที่รู้จักกันทั่วโลกมาช้านานตั้งแต่ปี 1974(พ.ศ.2517)  นั่นคือเครื่องบิน F-16

F-16 ผลิตโดยบ.เจอเนอรัล ไดนามิค มีชื่อเรียกขานอย่างเป็นทางการว่า ไฟติ้ง ฟอลคอน” (Fighting Falcon) แต่ก็ยังมีอีกชื่อหนึ่งที่ไม่เป็นทางการซึ่งมักใช้เรียกกันในหมู่นักบิน นั่นคือ ไวเปอร์(Viper)

สำหรับคุณสมบัติและสมรรถนะของเครื่องบิน ผมจะไม่ขอนำมากล่าวในที่นี้ เพราะมันไม่ใช่เกร็ดความรู้ที่ผมตั้งใจจะนำเสนอ อีกทั้งท่านผู้อ่านที่สนใจก็สามารถค้นหาอ่านได้จากในอินเตอร์เน็ท แต่เกร็ดความรู้ที่ผมจะนำมาเสนอในวันนี้นั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจำแนกเครื่องบิน F-16 ซึ่งคิดว่าน่าจะมีประโยชน์แก่ท่านผู้อ่าน อย่างน้อยก็เพิ่มความรู้เกี่ยวกับเครื่องบินที่สร้างตำนานและวีรกรรมต่างๆ ไว้อย่างมากมายทั่วโลก

มาเริ่มต้นทำความรู้จักกับเครื่องบิน F-16 ในแบบฉบับของ monsoon กัน
F-16 มาตรฐานตั้งแต่รุ่นแรกไปจนถึงรุ่นล่าสุด(ปัจจุบัน) จะใช้เป็นตัวอักษรกำกับ เรียงกันไปดังนี้คือ รุ่น A, B, C, D, E, F
สำหรับอักษรอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมา เช่น F-16I หรือ F-16IQ  เป็นรุ่นเฉพาะไม่ใช่รุ่นมาตาฐาน ซึ่งจะกล่าวถึงในภายหลัง


การแยกความแตกต่างลำดับแรกคือ ต้องแยกแยะเครื่องบิน F-16 แบบที่นั่งเดียว กับ แบบสองที่นั่ง ออกจากกันให้ได้เสียก่อน เพราะความแตกต่างระหว่างแบบที่นั่งเดียวกับสองที่นั่งคือ แบบที่นั่งเดียวเป็นเครื่องบินรบ และแบบสองที่นั่งเป็นเครื่องฝึกบิน
หากท่านผุ้อ่านเคยสังเกตจะเห็นว่าในการสั่งซื้อเครื่องบิน F-16 ไม่วาประเทศใดก็ตาม จะสั่งซื้อเคริ่องบินรุ่นสองที่นั่งจำนวนน้อยกว่าเครื่องบินรุ่นที่นั่งเดียว ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากเป็นรุ่นเครื่องบินฝึกนั่นเอง


การมองแยกตัวสายตาคงไม่ยาก แต่หากต้องแยกจากตัวอักษรกำกับรุ่นก็อาจจะต้องความเข้าใจกันนิดหน่อย นั่นคือ

  • เครื่องที่เป็นแบบที่นั่งเดียว คือรุ่น A หรือ C หรือ E
  • ส่วน รุ่น B หรือ D หรือ F เป็นเครื่องบินแบบสองที่นั่ง
ซึ่งหากเราจับกลุ่มกันแล้ว ก็สามารถอธิบายความได้อีกรูปแบบหนึ่ง ก็คือปัจจุบันมีเครื่องบิน F-16 แค่ 3 ยุคเท่านั้น ดังนี้

  • ยุคที่ 1 คือ รุ่น A และรุ่น B
  • ยุคที่ 2 คือ รุ่น C และรุ่น D
  • ยุคที่ 3 คือ รุ่น E และรุ่น F


เกร็ดความรู้ยังไม่จบแค่นี้ เพราะในแต่ละรุ่นพื้นฐานยังมีแยกย่อยออกเป็นบล็อค(block) ต่างๆ อีก และเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น ผมจึงสรุปแยกบล็อคต่างๆ ให้ดูง่ายขึ้น ดังนี้

ยุคแรก F-16 A/B มี
  • Block 1
  • block 5
  • Block 10
  • Block 15
  • Block 15 OCU (Operational Capability Upgrade)
  • และ Block 20
ยุคที่สอง F-16 C/D มี
  • Block 25
  • Block 30
  • Block 32
  • Block 40
  • Block 42
  • Block 50 และ
  • Block 52
  • Block 52+
ยุคที่สาม F-16 E/F มี
  • Block 60

ที่กล่าวมานี้ก็คือการจำแนกแยกแยะหลักๆ ส่วนรหัสที่ใช้เรียกกันนั้นก็ต้องเทียบเคียบจากรุ่นและบล็อคเหล่านี้ ตัวอย่างเช่น เครื่องบิน F-16 ที่ประเทศไทยมีใช้อยู่คือเครื่องบิน "F-16A block 15"  
และการเรียกชื่อนั้นจะไม่มีการข้ามรุ่นข้ามบล็อค เช่น "F-16A block 30" ตัวอย่างอันนี้คือเครื่องบิน F-16 รุ่นที่ไม่มีอยู่ในโลก คนที่กล่าวอ้างเช่นนี้คือคนที่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับเครื่องบิน F-16 เป็นต้น

ปกติแล้ว F-16 รุ่นใหม่อย่างรุ่น E/F ย่อมต้องทันสมัยกว่ารุ่นเก่าอย่าง A/B หรือ C/D
และบล๊อคเลขมากๆ ก็ย่อมดีกว่าเลขน้อยๆ ตัวอย่างเช่น F-16A Block 15 ต้องเก่าและด้อยกว่า F-16C Block 40 และ F-16C Block 40 จะไม่ทันสมัยเท่า F-16C Block 52

คราวนี้มาถึง F-16 รุ่นนอกเหนือจากรุ่นมาตรฐาน(A/B/C/D/E/F) กันบ้าง รุ่นตัวอักษรอื่นนั้นจะแสดงถึงเอกลักษณ์เฉพาะตัวรวมทั้งคุณสมบัติที่แตกต่างไปจากรุ่นมาตรฐานด้วย
กล่าวคือเครื่องบิน F-16 รุ่นพิเศษเหล่านั้นจะถูกเพิ่ม หรือลดสเปค ไปจากรุ่นมาตรฐาน
ตัวอย่างเช่น

  • F-16N เป็นเครื่องบินสำหรับกองทัพเรือสหรัฐ ก็คือเครื่องบิน F-16C Block 30  ที่ติดตั้งอุปกรณ์สำหรับลงจอดบนเรือบรรทุกเครื่องบิน เพิ่มเติมแตกต่างไปจาก F-16C Block 30 ทั่วไป

  • F-16I เป็นเครื่องบินสำหรับกองทัพอากาศอิสราเอล ก็คือเครื่องบิน F-16D Block 52 ที่ใส่ครอบสันหลังสำหรับช่องสื่อสารและควบคุมการบิน(dorsal avionics compartment) รวมทั้งติดถังเชื่อเพลิงแบบแนบข้างลำตัว(Conformal Fuel Tanks - CFT) เพิ่มเข้าไป


  • F-16IQ เป็นเครืองบินสำหรับกองทัพอากาศอิรัค ก็คือเครื่องบิน F-16C/D Block 52 แต่ลดสเปคลง




รายละเอียดยังไม่หมดแค่นั้น ยังมีรหัสรุ่นอื่นๆ อีก ที่คุ้นๆกัน หลักๆ ก็คือ

F-16 MLU : Mid-Life Update
เป็นชื่อเรียกของเครื่อง F-16 A หรือ B ในบล็อคแรกๆ (Block1-15) ที่ผ่านกระบวนการยืดอายุการใช้งาน ซึ่งภายหลังการอัพเกรดแล้ว เครื่องบินเหล่านั้นจะเปลี่ยนการเรียกจากเดิม มาเป็น F-16 MLU

F-16 ADF : Air Defense Fighter
เป็นเครื่องสำหรับกองกำลังป้องกันภัยทางอากาศสหรัฐ ที่มีหน้าที่ดูแลป้องกันพื้นฟ้าภายในประเทศอเมริกา ก็คือเครื่องบิน F-16 Block15 OCU(Operational Capability Upgrade) ที่นำมาติดอุปกรณ์ตามมาตรฐาน ADF

เรื่องของรหัสรุ่นต่างๆ ยังมีอีกมากมาย แต่เป็นรายละเอียดหลีกย่อยที่ไม่ค่อยปรากฏให้เห็นโดยทั่วไปนัก และเราๆ ท่านๆ ก็ไม่จำเป็นต้องรับรู้ไปให้ปวดหัว ดังนั้นผมจึงไม่ขอยกมากล่าว ก็คงต้องจบบทความส่งท้ายปีเก่า 2012 เกร็ดความรู้เกี่ยวกับเครื่องบิน F-16” ไว้แต่เพียงเท่านี้ หวังว่าบทความนี้คงจะสร้างพื้นฐานความเข้าใจและมีประโยชน์สำหรับท่านผู้อ่านที่สนใจในเครื่องบินที่มีชื่อเสียงก้องโลกลำนี้บ้างไม่มากก็น้อย.......โชคดีปีใหม่ครับ......





2 comments:

  1. นสพ.TGN เนื้อที่ไม่พอ เนื่องจากเป็นฉบับ ธันวามหาราช
    ดังนั้น จึงน่าจะลงในฉบับเดือนมกราคม 2013 แทน

    ReplyDelete