เฟซบุ้คเพจ

เพิ่มเติมอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับช่องสื่อสารผ่านเฟสบุค https://www.facebook.com/monsoonphotonewspage/ ด้วยข่าวสั้นจากสำนักข่าวต่างๆ ทั่วโลก รวดเร็วทันเหตุการณ์

Monday, November 18, 2013

14 พฤศจิกายน "วันพระบิดาแห่งฝนหลวง"


บทความในวันนี้คัดลอกมาจาก http://www.wingsofsiam.pantown.com/
โดย พ.อ.อ.รัชต์ รัตนวิจารณ์
เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ กองประชาสัมพันธ์
กรมกิจการพลเรือนทหารอากาศ




“...เมื่อมีฝนก็มีมากเกินพอจนเกิดปัญหาน้ำท่วม เมื่อหมดฝนก็เกิดปัญหาภัยแล้งตามมา นี่จึงเป็นสาเหตุหนึ่งของ ความยากจนของประชาชน...” พระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการเสด็จเยี่ยมราษฎรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๘


วันพระบิดาแห่งฝนหลวง ตรงกับวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ของทุกปี เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริโครงการฝนหลวงขึ้นเมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๔๙๘ ทรงศึกษาค้นคว้าและวิจัยทางเอกสาร ทั้งด้านวิชาการ อุตุนิยมวิทยา และการดัดแปรสภาพอากาศ

ใน ปี พ.ศ. ๒๔๙๙ จึงได้พระราชทาน โครงการพระราชดำริ "ฝนหลวง" ให้ผู้เชี่ยวชาญในการวิจัยประดิษฐ์ทางด้านเกษตรวิศวกรรมของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ขณะนั้น รับไปดำเนินการศึกษา วิจัย และพัฒนากรรมวิธีการทำฝนให้บังเกิดผลโดยเร็ว ในปีถัดมา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หาลู่ทางที่จะทำให้เกิดการทดลองปฏิบัติการในท้องฟ้าให้เป็นไปได้ พระองค์ทรงเชื่อมั่นว่าวิธีการดังกล่าวนี้จะทำให้การพัฒนาระบบการจัดทรัพยากรน้ำของชาติ เกิดความพร้อมและครบบริบูรณ์ ตามวัฏจักรของน้ำ คือ การพัฒนาระบบ การจัดการทรัพยากรแหล่งน้ำใต้ดิน, การพัฒนาระบบ การจัดการทรัพยากรแหล่งน้ำผิวดิน และการพัฒนาระบบ การจัดการทรัพยากรแหล่งน้ำในบรรยากาศ

เมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๑๒ นับเป็นประวัติศาสตร์แห่งการทำฝนหลวงของประเทศไทย เพราะเป็นวันปฐมฤกษ์ ในการปฏิบัติการทดลองทำฝนเทียมกับเมฆในท้องฟ้าเหนือภาคพื้นดิน บริเวณวนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา โดยการใช้น้ำแข็งแห้ง (Dry-Ice) โปรยที่ยอดของกลุ่มก้อนเมฆ ปรากฏว่าหลังการปฏิบัติการประมาณ ๑๕ นาที ก้อนเมฆในบริเวณนั้นเกิดมีการรวมตัวกันอย่างหนาแน่นจนเห็นได้ชัด สังเกตได้จากสีของฐานเมฆได้เปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีเทาเข้ม ซึ่งผลการทดลองเป็นที่น่าพอใจ เพียงแต่ยังไม่อาจควบคุมให้ฝนตกในบริเวณที่ต้องการได้ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานคำแนะนำเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง โดยให้เปลี่ยนพื้นที่ทดลองไปยังจุดแห้งแล้งอื่นๆ เช่น ที่อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี จากความสำเร็จของโครงการฝนหลวง จึงได้ตราพระราชกฤษฎีกาก่อตั้งสำนักงานปฏิบัติการ ฝนหลวงขึ้นใน พ.ศ. ๒๕๑๘ ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

คณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๔๕เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ทรงเป็น "พระบิดาแห่งฝนหลวง" พร้อมกันนี้ได้กำหนดให้วันที่ ๑๔ พฤศจิกายนของทุกปี เป็น “วันพระบิดาแห่งฝนหลวง”



C-47 Dacota
กองทัพอากาศกับโครงการพระราชดำริฝนหลวง

เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๕ ได้เกิดสภาวะแห้งแล้งเป็นบริเวณกว้าง รัฐบาลจึงได้มอบให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการตามแนวทางพระราชดำริ โดยให้กองทัพอากาศสนับสนุนเครื่องบินและเจ้าหน้าที่เข้าร่วมปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ดังนั้น กองทัพอากาศจึงได้จัดส่งเครื่องบินลำเลียงแบบที่ ๒ (C-47) จำนวน ๑ เครื่องและเครื่องบินลำเลียงแบบที่ ๔ (C-123B) จำนวน ๑ เครื่อง เข้าร่วมโครงการพระราชดำริฝนหลวงซึ่งนับว่า เป็นการบินทำฝนหลวงครั้งแรกของกองทัพอากาศ

C-123B
A-37B
กองทัพอากาศตระหนักถึงความสำคัญของโครงการพระราชดำริ จึงได้พิจารณาดัดแปลงเครื่องบินกองทัพอากาศสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจฝนหลวง ประกอบด้วย เครื่องบินลำเลียงแบบที่ ๔ ก (C-123K) จำนวน ๓ เครื่อง, เครื่องบินลำเลียงแบบที่ ๙ (NOMAD) จำนวน ๓ เครื่อง และเครื่องบินโจมตีแบบที่ ๖ (A-37B) จำนวน ๒ เครื่อง เพื่อร่วมโครงการวิจัยเกี่ยวกับ การทำฝน ในเมฆเย็นที่ระดับความสูงเกิน ๒๐,๐๐๐ ฟุต 
ปี พ.ศ.๒๕๓๙ เป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติ ครบ ๕๐ปี กองทัพอากาศได้จัดทำโครงการปรับปรุงเครื่องบินลำเลียงแบบที่ ๒ (C-47) ซึ่งปลดประจำการแล้ว จำนวน ๖ เครื่อง ให้มีสมรรถนะสูงขึ้น และกำหนดชื่อเรียกเครื่องบินแบบนี้ว่า เครื่องบินลำเลียงแบบที่ ๒ ก (BT-67) พร้อมกันนี้ ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตอัญเชิญตราสัญลักษณ์งานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี ประดับที่บริเวณแพนหางดิ่งของ บ.ล.๒ ก (BT-67) 
BT-67
ต่อมาประเทศไทยประสบภัยแล้งเพิ่มมากขึ้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีความต้องการขอรับการสนับสนุนเครื่องบินจากกองทัพอากาศเพิ่มเติม จึงได้พิจารณาดัดแปลงเครื่องบินโจมตีและธุรการแบบที่ ๒ (AU-23A) จำนวน ๖ เครื่อง เพื่อใช้สนับสนุนการปฏิบัติภารกิจฝนหลวง
นอกจากนี้ กองทัพอากาศ ยังร่วมกับ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีฝนหลวง โดยพิจารณาดัดแปลงเครื่องบินโจมตีแบบที่ ๗ (ALPHA JET) ให้สามารถปฏิบัติภารกิจการทำฝนในเมฆเย็นได้และพัฒนาอุปกรณ์ ยิงพลุซิลเวอร์ไอโอไดด์ และปรับปรุงประสิทธิภาพของพลุซิลเวอร์ไอโอไดด์ ให้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ปัจจุบัน กองทัพอากาศได้ร่วมดำเนินการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีฝนหลวง ๒ โครงการ คือ
- โครงการปฏิบัติการฝนหลวงยับยั้งการเกิดพายุลูกเห็บ โดยเครื่องบินโจมตีแบบที่ ๗ (ALPHA JET) จำนวน ๒ เครื่อง
- โครงการพลุสารดูดความชื้นเสริมการปฏิบัติการฝนหลวงเมฆอุ่น โดยเครื่องบินโจมตีธุรการแบบที่ ๒ (AU-23A) จำนวน ๒ เครื่อง

AU-23A
กองทัพอากาศได้สนองพระมหากรุณาธิคุณแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในโครงการพระราชดำริฝนหลวง โดยจัดเตรียมอากาศยานจำนวน ๑๒ เครื่องประกอบด้วย เครื่องบินลำเลียงแบบที่ ๒ ก (BT-67) จำนวน ๔ เครื่อง, เครื่องบินโจมตีและธุรการแบบที่ ๒ (AU-23A) จำนวน ๖ เครื่อง และเครื่องบินโจมตีแบบที่ ๗ (ALPHA JET) จำนวน ๒ เครื่อง นอกจากนี้ยังสนับสนุนฐานปฏิบัติการให้กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยเตรียมความพร้อมไว้ทั้งหมด ๑๑ กองบินทั่วประเทศ
Alpha Jet
สำหรับการปฏิบัติการฝนหลวงนั้น กองทัพอากาศ กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะร่วมกันปฏิบัติ โดยมีนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญของกรมฝนหลวงและการบินเกษตรในการกำหนดพื้นที่ และปริมาณสารฝนหลวงที่ต้องใช้ ตลอดจนวิเคราะห์สภาพแวดล้อมว่าจะเอื้ออำนวยในการทำฝนหลวงหรือไม่ “ทั้งนี้การบินทำฝนหลวงเป็นภารกิจที่ต้องใช้ความรู้ความสามารถเป็นอย่างมาก เนื่องจากปกติแล้ว นักบินทุกคนจะต้องฝึกและทำการบินหลีกเลี่ยงจากสภาพอากาศที่แปรปรวน เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุจากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการบินแต่การบินทำฝนหลวงจะบินในลักษณะดังกล่าวไม่ได้นักบินจำเป็นต้องบินเข้าหาเมฆ ซึ่งเป็นการบินที่มีความเสี่ยงอย่างยิ่ง ต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่แปรปรวน หรือเข้าใกล้พายุฝนฟ้าคะนองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” ดังนั้นในการขึ้นบินแต่ละเที่ยวบิน นักบินและเจ้าหน้าที่ ต้องวางแผน เตรียมการด้วยความระมัดระวัง ละเอียดรอบคอบอย่างที่สุด โดยใช้ความรู้ ความชำนาญ และประสบการณ์ที่มีอยู่ เพื่อให้การปฏิบัติภารกิจฝนหลวงประสบความสำเร็จ และปลอดภัย


ผลการปฏิบัติภารกิจ “ฝนหลวง” ในปี ๒๕๕๖ ของกองทัพอากาศ 

ฝนหลวงของกองทัพอากาศโดยเฉลี่ยจะทำการบินปีละประมาณ ๖๐๐ เที่ยวบิน คิดเป็นเวลาบินเฉลี่ยประมาณ ๘๐๐ ชม.บิน ใช้สารฝนหลวงประมาณ ๑,๐๐๐ ตันต่อปี ใช้พลุซิลเวอร์ไอโอไดด์ปฏิบัติภารกิจยับยั้งพายุลูกเห็บ จำนวน ๒๐๐ นัดต่อปี และพลุสารดูดความชื้น จำนวน ๑๐๐ นัดต่อปี ซึ่งผลการปฏิบัติภารกิจดังกล่าวประสบผลสำเร็จอย่างดี เป็นผลให้ปริมาณน้ำในเขื่อน และปริมาณน้ำฝนในพื้นที่การเกษตรเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก สามารถบรรเทาความเดือดร้อนจากปัญหาภัยแล้งได้อย่างดียิ่ง
การปฏิบัติภารกิจ ในปี พ.ศ. ๒๕๕๖ กองทัพอากาศสนับสนุนการบินปฏิบัติภารกิจฝนหลวง จำนวน ๖๖๕ เที่ยวบิน ๗๗๑.๕ ชม.บิน ใช้สารฝนหลวง จำนวน ๙๓๖.๔ ตัน ใช้พลุซิลเวอร์ไอโอไดด์ จำนวน ๑๖๗ นัด และใช้พลุสารดูดความชื้น จำนวน ๕๖ นัด 


การประเมินผล ปี พ.ศ. ๒๕๕๖ มีการขึ้นปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน ๒๔๓ วัน มีฝนตก ๒๓๘ วัน คิดเป็นร้อยละ ๙๗.๙๔ โดย กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้รับการรายงานฝนตกจากการสังเกตด้วยสายตา การตรวจวัดด้วยเรดาร์ และเครื่องวัดน้ำฝนอัตโนมัติ มีฝนตกรวม ๖๖ จังหวัด คิดเป็นพื้นที่ประมาณ ๓๐๘ ล้านไร่ (๓๐๘,๓๗๕,๘๖๖.๘๘ ไร่) โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตรปฏิบัติได้ประมาณ ๑๘๗ ล้านไร่ (๑๘๗,๘๑๐,๓๔๓.๗๕ ไร่) และกองทัพอากาศปฏิบัติได้ ประมาณ ๑๒๐ ล้านไร่ (๑๒๐,๕๖๕,๕๒๓.๑๓ ไร่)


กว่า ๔ ทศวรรษ ที่กองทัพอากาศได้ทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจ และกำลังสติปัญญา ในการเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพระราชดำริฝนหลวงอันสืบเนื่องมาจากพระอัฉริยะภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นับเป็นความภาคภูมิใจอย่างหาที่สุดมิได้ กองทัพอากาศขอตั้งปณิธานว่า จะมุ่งมั่น ทุ่มเทต่อไป..เพื่อสานต่อโครงการอันเปี่ยมด้วยประโยชน์ โดยมุ่งหวังจะเติมความชุ่มชื้นให้กับผืนแผ่นดินไทย ให้มีความอุดมสมบูรณ์ สร้างความสุขให้กับพี่น้องประชาชนชาวไทยอย่างแท้จริง และยั่งยืน..สืบไป


"ขอองค์ในหลวงทรงพระเจริญ ยิ่งยืนนาน

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ"

No comments:

Post a Comment