เฟซบุ้คเพจ

เพิ่มเติมอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับช่องสื่อสารผ่านเฟสบุค https://www.facebook.com/monsoonphotonewspage/ ด้วยข่าวสั้นจากสำนักข่าวต่างๆ ทั่วโลก รวดเร็วทันเหตุการณ์

Wednesday, May 23, 2018

F-5ST (Super Tigris)

บทความวันนี้เป็นการรวบรวมเรื่องราวของเครื่องบิน F-5F ของไทยที่อัพเกรดเป็นรุ่น Super Tigris เพื่อเป็นข้อมูลศึกษาต่อไปในภายหน้า โดยนำข้อมูลจาก กองทัพอากาศไทย Royal Thai Air Force มาร้อยเรียง
สำหรับช่วงท้ายจะเป็นประวัติศาสตร์เครื่องบิน F-5E/F ของกองทัพอากาศไทย โดยท่าน พ.อ.อ.รัชต์ รัตนวิจารณ์


F-5 Super Tigris  “เพิ่มประสิทธิภาพในการรบ”
ปัจจุบันเครื่องบินขับไล่แบบ F-5E/F ของกองทัพอากาศ เป็น บ.ขับไล่ในยุคที่ 3 ซึ่งมีขีดความสามารถจำกัด ไม่สามารถใช้อาวุธไกลเกินระยะสายตา ประกอบกับมีเทคโนโลยีล้าสมัยไม่สามารถเผชิญกับภัยคุกคามในปัจจุบันได้

การปรับปรุงขีดความสามารถของ บ.ที่มีใช้งานอยู่ให้มีสมรรถนะสูงขึ้น จึงเป็นทางเลือกหนึ่งของ ทอ.ในการดำรงขีดความสามารถในการป้องกันประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง

ปรับปรุงขีดความสามารถ ให้สามารถใช้งานระบบอาวุธสมัยใหม่ที่มีความแม่นยำสูง มีระยะยิงไกล รวมทั้งติดตั้งระบบเรดาร์ที่มีประสิทธิภาพในการตรวจจับเป้าหมายเพียงพอต่อการปฏิบัติภารกิจ และเตรียมการติดตั้งระบบเชื่อมโยงข้อมูลทางยุทธวิธี (Tactical Data Link) เพื่อใช้งานร่วมกับเครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์สมรรถนะสูงแบบอื่นๆ ของ ทอ.และระบบป้องกันทางอากาศของ ทอ.ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะต้องคำนึงถึงการส่งกำลัง และซ่อมบำรุงตลอดอายุการใช้งานของเครื่องบินที่ได้รับการปรับปรุงดังกล่าวหรืออย่างน้อย 15 ปี หลังการปรับปรุงแล้วเสร็จ

รายละเอียดของการปรับปรุง
- Mission Computer (MC) สามารถประมวลผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ และติดตั้งซอฟต์แวร์ที่ทันสมัย
- มีระบบแสดงข้อมูล Color Moving Map บนจอ Horizontal Situation Display รวมทั้งติดตั้งจอภายในห้องนักบิน แบบ Multi Function Color Display (MFCD) จำนวน 2 จอ
- ติดตั้งเครื่องรับ-ส่งวิทยุ ให้มีระบบป้องกันการรบกวนทางอิเล็กทรอนิกส์ (ECCM) แบบ HAVE QUICK II
- ปรับปรุง Head Up Display (HUD) และติดตั้ง Up Front Control Panel (UFCP)
- ติดตั้งระบบ Digital Video and Data Recorder (DVDR) สามารถบันทึกภาพและเสียง รวมทั้งมีระบบบรรยายสรุปหลังการบิน (Debriefing System)
- ปรับปรุงระบบไฟฟ้าและระบบ Environment Control System (ECS) ของ บ.รวมทั้งระบบอื่นที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงขีดความสามารถ

ระบบอาวุธ
- สามารถใช้งานระบบอาวุธนำวิถีอากาศสู่อากาศ ที่ทันสมัยในระยะสายตา (Within Visual Range) ที่ ทอ.มีใช้งานในปัจจุบัน และติดตั้ง Software อาวุธนำวิถีอากาศสู่อากาศ ระยะไกลเกินสายตา (Beyond Visual Range) สำหรับรองรับ การใช้งานในอนาคต
- ติดตั้งอุปกรณ์ให้รองรับการใช้งาน Navigation/Targeting Pod ซึ่ง ทอ.มีการใช้งานอยู่ในปัจจุบัน
- สามารถใช้งานระบบอาวุธที่ ทอ.มีใช้งานในปัจจุบัน และจะจัดหาในอนาคตได้
- ระบบป้องกันตนเองโดยติดตั้งระบบ Electronics Warfare ที่ทันสมัย ซึ่งประกอบด้วย อุปกรณ์ Radar Warning Receiver (RWR) และ Countermeasure Dispenser System

Data Link
- ติดตั้ง ระบบเชื่อมโยงข้อมูลทางยุทธวิธี (Tactical Data Link : TDL) แบบ Link -T ที่สามารถใช้งานในระบบบัญชาการและควบคุมหรือใช้ในระบบการปฏิบัติการทางอากาศของ ทอ.
- ติดตั้งระบบ Embedded GPS/INS แบบ Fiber Optic Gyro พร้อมด้วย GPS Antenna เพื่อความถูกต้อง และแม่นยำในการเดินอากาศ

Radar
- ติดตั้งระบบเรดาร์ที่ทันสมัย โดยมีขีดความสามารถตรวจจับเป้าหมายระยะไกล สามารถตรวจจับเป้าหมายที่เป็น บ.ขับไล่ ได้ระยะทางไม่ต่ำกว่า 40 ไมล์ทะเล รวมทั้งสนับสนุนใช้งานระบบอาวุธสมัยใหม่และมีขีดความสามารถ Synthetic Aperture Radar (SAR)

F-5E/F: Generation
ปัจจุบันเครื่องบินขับไล่ทั่วโลกส่วนใหญ่อยู่ในยุค 4 ถึง 5 แต่ F-5E/F ของ ทอ.จัดอยู่ในยุค 3 ซึ่งมีขีดความสามารถจำกัด ไม่พร้อมรับกับภัยคุกคาม โดยเมื่อทำการอัพเกรด จะมีระบบอาวุธเทียบเท่า เครื่องบินขับไล่ในยุค 4.5 ที่มีระบบเรดาร์ระยะไกล และระบบอาวุธระยะไกลเกินสายตา ตลอดจนระบบ Data Link

ด้านการฝึกอบรม
- ดำเนินการฝึกอบรม Difference Training สำหรับ นบ.พร้อมกำหนด
หลักสูตรและคู่มือการฝึกบินให้กับ ทอ.
- ดำเนินการฝึกอบรม Maintenance Training สำหรับ จนท.สนับสนุน การบิน และ จนท.การซ่อมบำรุงอากาศยาน บ.ข.๑๘ ข/ค โดยเฉพาะอุปกรณ์ที่ได้รับการปรับปรุงหรือเปลี่ยนใหม่ (Modified or Replaced) รวมทั้งการฝึกอบรมให้เกิดความคุ้นเคย (Familiarization Course) ต่อระบบที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ด้วย

การถ่ายทอดเทคโนโลยี
เพื่อเป็นพื้นฐานในการพัฒนา ทอ.ในด้านต่างๆ ได้แก่ การพัฒนาด้านบุคลากรให้เท่าทันเทคโนโลยีปัจจุบันและอนาคต การถ่ายทอดเทคโนโลยีของอากาศยาน การฝึกศึกษาเพื่อให้สามารถดูแล และบำรุงรักษาอากาศยานได้บนพื้นฐานของการพึ่งพาตนเอง ทอ.จะต้องสามารถพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีของอากาศยาน ระบบอาวุธ ระบบสื่อสารโทรคมนาคม หรือระบบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะช่วยให้สามารถพึ่งพาและพัฒนาได้ด้วยตนเองต่อไป

***********************************

โดยในวันที่  23 พฤษภาคม 2561 มีงานสำคัญสองงานจัดขึ้นที่กองบิน 21 อุบลราชธานี นั่นคือ “เกียรติยศ 40 ปี เครื่องบินขับไล่แบบที่ 18ข/ค (F-5 E/F)” และ พิธีส่งมอบเครื่องบินขับไล่แบบที่ 18 ค (F-5 F) ต้นแบบ (Roll out Ceremony) ตามโครงการปรับปรุงขีดความสามารถฯ

พิธีรับมอบเครื่องบินต้นแบบ F-5ST Super Tigis เครื่องแรก จากบริษัท เอลบิท ประเทศอิสราเอล ณ กองบิน 21 อุบลราชธานี
F-5ST ต้นแบบลำแรก
"เครื่องบินของเราเมื่อปรับปรุงแล้วจะมีขีดความสามารถที่เหนือกว่า F-5 รุ่นปรับปรุงของบราซิล และซิลี" (เสี้ยวหนึ่งในคำสัมภาษณ์ของผู้บัญชาการทหารอากาศ)

ต่อไปก็เป็นประวัติของเครื่องบิน F-5 ในกองทัพอากาศไทย โดย พ.อ.อ.รัชต์ รัตนวิจารณ์
(40ปี เทาดำ)เครื่องบินขับไล่แบบที่ 18 ข (F-5E) 76-1665 หมายเลข 21112 เป็น F-5E รุ่นหัวกลม 
"40 ปี เครื่องบินขับไล่แบบ F-5E/F" 
"ตอนที่ 1 โดย....พ.อ.อ.รัชต์ รัตนวิจารณ์" 

นับตั้งแต่ พ.ศ.2516 บริษัทนอร์ทรอป ผู้ผลิตเครื่องบินขับไล่แบบ F-5A/B กำลังเปิดสายการผลิตเครื่องบินขับไล่แบบใหม่คือ F-5E/F ซึ่งมีสมรรถนะสูงกว่ารุ่น A/B และมีการติดเรดาร์ค้นหาเป้าหมายอยู่ที่ส่วนหัวของเครื่องบินด้วยต่างจากรุ่น A/B ที่ไม่มี
รุ่นหัวกลม มาตรฐาน
บริษัทได้ส่งวิศวกรมาทำการบรรยายสรุปโดยละเอียดให้กองทัพอากาศไทย เป็นการเชิญชวนให้ประเทศไทยสนใจและซื้อเครื่องบินขับไล่แบบ F-5E/F ดังกล่าว ซึ่งจากนั้นกองทัพอากาศในสมัยพลอากาศเอก กมล เดชะตุงคะ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ก็ได้เริ่มกระบวนการจัดหาในแบบระบบราชการ ตั้งแต่ปี 2519 เป็นต้นมา และด้วยสาเหตุที่งบประมาณในส่วนที่กองทัพอากาศได้รับในแต่ละปีมีน้อย แน่นอนว่าช่วงเวลานั้นมีการต่อต้านคัดค้านโครงการจัดซื้อนี้ทั้งจากรัฐบาล และหน่วยที่เหนือขึ้นไปจากกองทัพอากาศ แต่ด้วยความมุ่งมั่นของกองทัพอากาศ ที่มองว่าเครื่องบินในชุดดังกล่าวจะทำให้กองทัพอากาศมีขีดความสามารถในการป้องกันภัยทางอากาศ และกำลังทหารจากเพื่อนบ้านที่มีแนวโน้มจะรุกรานตามแนวชายแดนทั้งตะวันตกและตะวันออกของประเทศ ที่อาจจะเป็นภัยคุกครามที่สำคัญในขณะนั้น ความพยายามของกองทัพอากาศสำเร็จผลจนกระทั่งได้รับมอบ F-5E/F ฝูงแรกในปี 2521 และฝูงที่ 2 ในปี 2524 ซึ่งนับว่า F-5E/F เป็นเครื่องบินขับไล่ที่ทันสมัยที่สุดของกองทัพอากาศ และทันสมัยที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขณะนั้น (ขณะนั้นเวียดนามมีประจำการด้วย MiG-21 และ F-5A/B/E จำนวนหนึ่ง)

ในส่วนของประเทศไทย นับตั้งแต่ปี 1979 บริษัท NORTHROP ได้ทยอยส่งมอบเครื่องบินขับไล่ที่นั่งเดียวและสองที่นั่งแบบ F-5 E /F รุ่นแรกที่สั่งซื้อด้วยงบประมาณของประเทศไทยเอง จำนวน 17 / 3 เครื่อง F-5 E/F เหล่านี้เป็นรุ่นหัวกลมมาตรฐาน กองทัพอากาศไทยกำหนดชื่อว่า "บ.ข.18 ข." บรรจุประจำการในฝูงบิน 102 กองบิน 1 นครราชสีมา (ภายหลังย้ายไปอยู่ฝูง 711 กองบิน 71 สุราษฎร์ธานี ) ในปี 1981 กองทัพอากาศรับมอบ F-5 E เป็นรุ่นหัวปากเป็ดหรือปากฉลาม ปลายส่วนบนของหางมีคีบและที่ชายหน้าปีกมีส่วนที่ยื่นออก มันได้บรรจุเข้าประจำการในฝูงบิน 403 กองบิน 4 ตาคลี จำนวน 9 เครื่องและในปี 1982 รับมอบ F-5 E / F เพิ่มอีกจำนวน 8 / 3 เครื่อง
รุ่นหัวแบน หรือปากเป็ด หรือหัวฉลาม
นับตั้งแต่ปี 1987 เป็นต้นมาเครื่องบินชุดหลังทั้งหมดได้รับการปรับปรุงให้มีขีดความสามารถในการใช้อาวุธได้แม่ยำขึ้นโดยเปลี่ยนศูนย์เล็งมองภาพแบบหัวกลับ HUD ระบบนำร่องพร้อมเครื่องช่วยเดินอากาศ INS (Inertial Navigation System) และระบบป้องกันตนเองทั้งชาฟท์และแฟร์ นอกจากปืนใหญ่อากาศ M-39 A-2 ขนาด 20 มม. และจรวดนำวิถี AIM-9 ที่ปลายปีกข้างละนัดแล้ว มันยังได้รับการติดตั้งจรวดไพธอน 3 ของอิสราเอลที่ใต้ปีกอีกข้างละนัดอีกด้วย ปัจจุบันเครื่องบินชุดหลังนี้ทั้งหมดส่งไปบรรจุประจำการที่ฝูงบิน 211 กองบิน 21 อุบลราชธานี

อนึ่งในปี 1987 กองทัพอากาศไทยจัดซื้อ F-5 E อีกจำนวน 10 เครื่องเป็นรุ่นมาตรฐานหัวกลมแต่ที่หาง มีคลีบ โดยในรุ่นหลังนี้เป็นเครื่องบินเก่าของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ที่เคยใช้งานอยู่ในฝูงบินขับไล่ยุทธวิธีที่ 26 (ฝูงข้าศึกสมมติ) ซึ่งประจำการอยู่ในฐานทัพอากาศคล๊าก ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งภายหลังตรวจสภาพแล้วบรรจุเข้าประจำการเพียง 6 เครื่อง ที่ฝูงบิน 231 กองบิน 23 อุดรธานี ร่วมกับเครื่อง F-5 A/B และ RF-5 A
ุรุ่นหัวกลม (ปลาย)หาง(มี)คลีบ
ภายหลังปี 1996 เครื่องบินทั้งหมดของฝูงบิน 231 ส่งไปบรรจุประจำการที่ฝูง 711 กองบิน 71 (ฝูง 701 กองบิน 7 สุราษฏร์ธานี ) และเครื่องบิน F-5 E/ F ทั้งหมดของกองทัพอากาศไทย นับตั้งแต่ปี 2002 เป็นต้นมาได้เข้าทำการปรับปรุงครั้งใหญ่ภายในประเทศไทย โดยบริษัทเอลบิทของอิสราเอล อาทิ การเปลี่ยนระบบควบคุมการบิน ควบคุมระบบอาวุธ ระบบป้องกันตนเอง และระบบอาวุธใหม่หลายรายการ
เครื่องบินขับไล่แบบ F-5 E/F เป็นอีกแบบของเครื่องบินขับไล่แห่งโลกเสรีที่เข้าทำสงครามกับข้าศึก แต่ส่วนใหญ่มันจะได้รับมอบหมายให้เป็นเครื่องบินโจมตีสนับสนุนกองกำลังภาคพื้นดิน และการปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ในส่วนของกองทัพอากาศไทย F-5 E เป็นกำลังหลักที่สำคัญในการป้องกันประเทศจากภัยคุกคามนอกประเทศ ผ่านการรบที่สำคัญเช่น การรบกับกองกำลังเวียดนาม ตามแนวชายแดนไทยกับกัมพูชา และการรบในกรณีพิพาทกับลาวในเหตุการณ์บ้านร่มเกล้า การออกแบบของเครื่องบินขับไล่ที่มีเครื่องยนต์แฝด ยังคงมีความปลอดภัยในการรบสูงยิ่ง ครั้งหนึ่งในการรบตามแนวชายแดนไทย - กัมพูชา บริเวณจังหวัดอุบลราชธานี และสุรินทร์ เครื่องบินขับไล่ F-5 E เครื่องหนึ่ง (91689) ของฝูงบิน 403 ถูกยิงด้วยจรวดนำวิถี SAM-7 เข้าที่เครื่องยนต์ด้านขวาระเบิดได้รับความเสียหาย แต่นักบิน (น.ต.สุรศักดิ์ บุญเปรมปรีดิ์ ) ยังสามารถนำเครื่องบินกลับมาลงยังสนามบินได้และเครื่องบินก็ได้รับการซ่อมบำรุงในภายหลังให้สามารถกลับมาปฏิบัติการรบได้อีกครั้ง

ในระหว่างกรณีพิพาทบ้านร่มเกล้าปี 1988 นักบินคนเดียวกันนี้นำ F-5 E เข้าโจมตีเป้าหมายข้าศึกที่มีการป้องกันอย่างหนาแน่น เครื่องบินถูกจรวดต่อสู้อากาศยาน SAM-7 จำนวน 5 ลูก แม้ว่านักบินจะใช้ระบบป้องกันตนเองแล้วก็ตาม ก็ยังมีจรวดที่ยิงเข้าที่ส่วนหางจนเครื่องบินไม่สามารถควบคุมได้ นักบินจึงต้องสละเครื่องบินและได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยค้นหาและช่วยชีวิต

การปรับปรุงและพัฒนาของ F-5 E นั้นมีหลายประเทศที่ทำการปรับปรุงและพัฒนาเพื่อยืดอายุการใช้งาน อาทิ ทอ.ซิลี ทอ.บราซิล ทอ.ไต้หวัน ทอ.สิงคโปร์ ซึ่งได้มีการปรับปรุงหลายรายการตั้งแต่ระบบเรดาร์ยาวไปจนถึงเครื่องยนต์ รวมทั้งการติดตั้งท่อเติมเชื้อเพลิงกลางอากาศเข้าไปด้วย ทอ.สิงคโปร์กำหนดชื่อ F-5 E ของตนที่ได้รับการปรับปรุงใหม่เป็น F-5 T เช่นเดียวกับรุ่น F-5 F ที่เปลี่ยนชื่อเป็น F-5 S ส่วน ทอ.ไทย และอินโดนีเซีย ทำการปรับปรุงในระดับหนึ่งเท่านั้น

ในส่วนของกองทัพอากาศ ได้มีการปรับปรุงครั้งที่ 3 โดยได้กำหนดชื่อว่า F-5ST SUPER TIGIS ซึ่งมีขีดความสามารถเหนือกว่า F-5 ของทุกชาติที่ได้ปรับปรุง


"40 ปี เครื่องบินขับไล่แบบ F-5E/F"
"ตอนที่ 2 โดย....พ.อ.อ.รัชต์ รัตนวิจารณ์" 

สายของวันที่ 25 กันยายน 2521 กองทัพอากาศ ขณะนั้นซึ่งมี พลอากาศเอก พะเนียง กานตรัตน์ เป็นผู้บัญชาการทหารอากาศ ได้จัดให้มีพิธีบรรจุประจำการเครื่องบินขับไล่สมรรถนะสูงความเร็วเหนือเสียงแบบ F-5 E และ F-5 F ฝูงแรกของกองทัพอากาศไทย ณ ลานจอดเครื่องบินกองบิน 6 ดอนเมือง โดยมี พลอากาศเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรี ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธานในพิธีเจิมเครื่องบิน F-5 E/F และบรรจุประจำการในฝูงบิน 102 กองบิน 1 จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมี นาวาอากาศโท อมร แนวมาลี (ยศครั้งสุดท้าย พลอากาศเอก ตำแหน่ง ผู้บัญชาการทหารอากาศ) เป็นผู้บังคับฝูงบิน 102 เครื่องบินแบบ F-5 E/F คนแรกของกองทัพอากาศไทย (นอกจากนี้ในวันดังกล่าวกองทัพอากาศยังได้จัดพิธีเกษียณอายุราชการในตำแหน่ง ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ของพลอากาศเอก เกรียงศักดิ์ ฯ นายกรัฐมนตรี ณ โรงเรียนนายเรืออากาศ ด้วย)

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2518 พลอากาศเอก กมล เดชะตุงคะ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ในขณะนั้น ได้พิจารณาทบทวนสถานการณ์ในขณะนั้นและในอนาคต เพื่อเตรียมกำลังทางอากาศไว้ให้พร้อมในการปกป้องประเทศชาติ โดยขณะนั้นสถานการณ์ในภูมิภาคแห่งนี้อยู่ในความตึงเครียด ภัยคุกครามจากลัทธิคอมมิวนิสต์ที่มีชัยชนะในประเทศเวียดนามใต้ เขมร และลาว ประกอบกับกองทัพสหรัฐฯ ทยอยถอนทหารออกจากประเทศไทยและจากภูมิภาคแถบนี้ กองทัพอากาศจึงรายงานขึ้นไปยังกองบัญชาการทหารสูงสุด ถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการจัดหาและเสริมสร้างกำลังทางอากาศให้เข้มแข็ง ในการป้องกันทางอากาศ

เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2519 คณะรัฐมนตรีพิจารณาเรื่องความต้องการเครื่องบินของกองทัพอากาศ และลงมติรับหลักการและมอบหมายให้หน่วยเกี่ยวข้องกลับไปพิจารณาดำเนินการ จากนั้นคณะรัฐมนตรีก็ได้อนุมัติให้กองทัพอากาศ จัดหาเครื่องบินขับไล่แบบ F-5 E/F จำนวน 1 ฝูง พร้อมระบบอาวุธ เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2519 โดยใช้วิธีจัดซื้อโดยตรงจากรัฐบาลสหรัฐฯ ในระบบการขายแบบ FMS : Foreign Military Sale โดยก่อนหน้านี้กองทัพอากาศได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดซื้อเครื่องบินขับไล่แบบ F-5 E/F ของกองทัพอากาศไทยชุดแรกในโลก ในชื่อ “คณะกรรมการโครงการเครื่องบินขับไล่สกัดกั้นพร้อมจรวดนำวิถีอากาศสู่อากาศ” เพื่อพิจารณาเรื่องของความต้องการ ข้อตกลง และรายลเอียดต่างๆ จนสรุปผลการความต้องการแล้วจึงส่งเรื่องเข้าพิจารณาซึ่งภายหลังคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติในวันเดียวกันนั้นเอง กองทัพอากาศ ในนามรัฐบาลไทย ก็ได้ลงนามจัดซื้อเครื่องบิน F-5 E/F พร้อมระบบอาวุธและอุปกรณ์ต่างๆ ดังนี้
- การจัดซื้อเครื่องบินขับไล่ที่นั่งเดียวแบบ F-5 E จำนวน 13 เครื่อง เป็นเงินรวม 41.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
- การจัดซื้อเครื่องบินขับไล่สองที่นั่งแบบ F-5 F จำนวน 3 เครื่อง เป็นเงินรวม 12.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
- ค่าเครื่องมือและอุปกรณ์สนับสนุน เป็นเงิน 6.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
- ค่าอะไหล่เริ่มแรกสำหรับใช้ 18 เดือน เป็นเงิน 11.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
- ค่าบริการเจ้าหน้าที่เทคนิค เป็นเงิน 0.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
- ค่าขนส่ง เป็นเงิน 9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
- ค่าดำเนินการและบริการต่างๆ เป็นเงิน 2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 75 ล้านเหรียญ คิดเป็นเงินไทยในขณะนั้นประมาณ 1,537.5 ล้านบาท ระยะเวลา การผ่อนชำระเป็นงวดๆ รวมระยะเวลา 4 ปี ระหว่างปี 2519 – 2522 และนอกจากการจัดซื้อเครื่องบินขับไล่แบบ F-5 E/F ชุดแรก 16 เครื่องแล้ว ยังมีการจัดหาจรวดนำวิถีแบบ AIM-9 J อีกจำนวนหนึ่งในวงเงิน 441.7 ล้านบาท โดยในส่วนนี้เป็นการจัดหาในช่วงปี 2521 – 2522 ภายหลังการลงนามจัดซื้อและมีการเปิดสายการผลิตในส่วนของกองทัพอากาศไทยชุดแรก แล้ว ก็ได้เริ่มมีการทยอยส่งมอบให้กองทัพอากาศไทย

26 พฤษภาคม พ.ศ. 2521 เครื่องบินขับไล่ F-5 E/F จำนวน 8 เครื่องแรกได้เดินทางมาถึงประเทศไทย (สนามบินดอนเมือง) โดยการบรรทุกมากับเครื่องบินลำเลียงขนาดยักษ์ที่ใหญ่ที่สุดของกองทัพอากาศสหรัฐฯ แบบ C-5 แกแลคซี่ โดยในเที่ยวบินแรกเดินทางมาถึงในวันนี้ จากนั้นเจ้าหน้าที่ของกองทัพอากาศไทย สหรัฐฯ และช่างเทคนิคของบริษัทฯ ได้ทำการลำเลียงเครื่องบิน F-5 E/F ชุดแรก ที่อยู่ในลักษณะถอดปีกและลำตัวออกจากกันเพื่อความสะดวกในการขนส่งมากับ C-5 เพื่อขึ้นรถลำเลียงสินค้าของการบินไทย ที่เข้าจอดเทียบด้านหน้าของ เครื่องบินลำเลียงแบบ C-5 ที่สามารถเปิดส่วนหัวออกได้
F-5E/F ทั้ง 8 เครื่องแรกขณะถูกนำออกมาเรียงอยู่บนแท่นที่วางอยู่บนพื้นดิน ด้วยสีพรางสามสีนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของกองทัพอากาศไทย ที่มีการใช้สีพรางเทาฟ้ากับเครื่องบินรบของกองทัพอากาศ โดยก่อนหน้านั้นการใช้สีพรางของเครื่องบินรบจะเน้นสีพรางแบบกองทัพอากาศสหรัฐฯที่ปฏิบัติการในเวียดนาม หรือที่เรามักเรียกติดปากว่าสีพรางเวียดนาม
สีพรางเวียดนาม
สีเทาฟ้าลายพรางสามสีของ F-5 E/F สร้างความสนใจให้กับทหารอากาศที่ดอนเมืองไม่ใช่น้อย เครื่องบินทั้ง 8 เครื่องถูกเจ้าหน้าที่กองทัพอากาศไทย ฝ่ายช่างการบินไทย และ จัสแมกอเมริกันรวมถึงเจ้าหน้าที่ของบริษัท นอร์ธรอป ทำการประกอบ ส่วนปีกของเครื่องบินเข้ากับลำตัว โครงสร้างของเครื่องบินขับไล่แบบ F-5E นั้นไม่ต่างไปจากโมเดลของเครื่องบินจำลองแบบเดียวกันนี้ ที่มีปีก เป็นชิ้นเดียวกัน แยกมาประกอบกับลำตัว เพียงแค่สวมเข้าไปและประกอบท่อทาง สายไฟ ขันน็อต ไม่นานนักเครื่องบินดังกล่าวก็เสร็จสมบูรณ์ พร้อมลากออกไปดำเนินการ ทดสอบระบบต่างๆก่อนขึ้นทำการบินทดสอบจริง การดำเนินการประกอบมีขึ้นที่ กองโรงงานการช่าง ของกรมช่างอากาศ ดอนเมือง

21 สิงหาคม พ.ศ.2521 เครื่องบินขนส่ง C-5 แกแลคซี่ เครื่องบินลำเลียงใหญ่ที่สุดของกองทัพอากาศสหรัฐฯ กลับมาที่ดอนเมืองอีกครั้ง อาจจะเป็นความคุ้นตาของคนที่ดอนเมืองในยุคที่อเมริกันขนกำลังทางอากาศของตนมาวางกำลังในประเทศไทยช่วงสงครามเวียดนาม (2505 – 2519) แต่ครั้งนี้ เป็นการลำเลียงเครื่องบินขับไล่ F-5 E/F ชุดที่ 2 จำนวน 8 เครื่อง มาและทำการประกอบที่เดียวกับ เครื่องบินชุดแรก การลำเลียงเครื่องบินขับไล่แบบ F-5E/F ทั้งสองฝูง ประกอบด้วย ฝูงบิน 102 และฝูงที่สอง(ฝูงบิน 403) ที่จัดหามาในอีก 2 ปีต่อมาก็ทำการลำเลียง มาด้วยเครื่องบิน C-5 ถือเป็นเครื่องบินรบแบบเดียว ที่ทำการขนส่งมาจำนวนมากโดยเครื่องบินขนส่งยักษ์ C-5 นอกนั้นจะเป็นการลำเลียง เครื่องบินรบมาส่งประเทศไทยโดยเรือบรรทุกเครื่องบิน หรือเรือขนส่ง มายังท่าเรือคลองเตย แล้วทำการลาก มาประกอบที่สนามบินดอนเมือง แต่เนื่องจากระยะหลัง มีการจราจร ที่แน่นขนัด การลำเลียงส่วนใหญ่จึงเปลี่ยนไปลงที่ท่าเรือจุกเสม็ด แล้วทำการลากไปประกอบ ที่สนามบินอู่ตะเภาแล้วทำการบินไปยังกองบินของตน (เครื่องบินบางแบบขนส่งมาลงเรือที่เวียดนามใต้แล้วทำการบินมาไทย)
พรางสามสี
F-5E/F ถูกนำออกมาเรียงอยู่บนแท่นที่วางอยู่บนพื้นดิน ด้วยสีพรางสามสีนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของกองทัพอากาศไทย ที่มีการใช้สีพรางเทาฟ้ากับเครื่องบินรบของกองทัพอากาศ โดยก่อนหน้านั้นการใช้สีพรางของเครื่องบินรบจะเน้นสีพรางแบบกองทัพอากาศสหรัฐฯที่ปฏิบัติการในเวียดนาม หรือที่เรามักเรียกติดปากว่าสีพรางเวียดนาม สีเทาฟ้าลายพรางสามสีของ F-5 E/F สร้างความสนใจให้กับทหารอากาศที่ดอนเมืองไม่ใช่น้อย เครื่องบินทั้งหมดถูกเจ้าหน้าที่กองทัพอากาศไทย ฝ่ายช่างการบินไทย และ จัสแมกอเมริกันรวมถึงเจ้าหน้าที่ของบริษัท นอร์ธรอป ทำการประกอบ ส่วนปีกของเครื่องบินเข้ากับลำตัว โครงสร้างของเครื่องบินขับไล่แบบ F-5E นั้นไม่ต่างไปจากโมเดลของเครื่องบินจำลองแบบเดียวกันนี้ ที่มีปีก เป็นชิ้นเดียวกัน แยกมาประกอบกับลำตัว เพียงแค่สวมเข้าไปและประกอบท่อทาง สายไฟ ขันน็อต ไม่นานนักเครื่องบินดังกล่าวก็เสร็จสมบูรณ์ พร้อมลากออกไปดำเนินการทดสอบระบบต่างๆก่อนขึ้นทำการบินทดสอบจริง

การดำเนินการประกอบมีขึ้นที่ กองโรงงานการช่าง ของกรมช่างอากาศ ดอนเมือง โดยมีนายทหารชั้นผู้ใหญ่ และข้าราชการ ทหารอากาศ ให้ความสนใจจำนวนมากเพราะเครื่องบินขับไล่แบบนี้ เป็นยุทโธปกรณ์ ที่ กองทัพอากาศซื้อด้วยงบประมาณของประเทศ ที่มีจำนวนมาก อีกครั้งหนึ่งโดยก่อนหน้านี้ กองทัพอากาศพึ่งรับมอบเครื่องบินโจมตีแบบ OV-10C ที่สั่งซื้อไปเมื่อปี 2514 แม้ว่าก่อนนี้จะมีการลำเลียงเครื่องบิน หลายแบบ ที่สั่งซื้อไปมาทำการประกอบเพื่อเตรียมเข้าประจำการ แต่ที่ผ่านมานั้น ส่วนใหญ่จะลำเลียง มาทางเรือและลำเลียงทางรถยนต์มาประกอบที่ดอนเมือง แต่ครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ยิ่งใหญ่มาก เพราะเป็นการลำเลียงเครื่องบินขับไล่ สุดยอดเหล่านี้มาทางเครื่องบินเครื่องบินขับไล่ F-5E ชุดแรกที่เดินทางมาถึงได้รับการประกอบ เสร็จสมบูรณ์เตรียมขึ้นทำการบินทดสอบและส่งมอบให้ฝูงบิน 102 กองบิน 1 โคราช

เครื่องบินขับไล่ที่นั่งเดียวแบบ F-5E กองทัพอากาศกำหนด ชื่อเรียกว่า เครื่องบินขับไล่แบบที่ 18 ข (บ.ข.18 ข) เรียกถัดจาก F-5 A/B ที่รับมอบมาก่อนหน้านั้น ส่วนเครื่องบินขับไล่แบบ F-5 F รุ่นสองที่นั่ง ได้รับการกำหนดเรียกชื่อว่า เครื่องบินขับไล่แบบที่ 18 ค (บ.ข.18 ค)

และเป็นความภาคภูมิใจของผู้ปฏิบัติงานกับเครื่องบิน F-5 E/F ครั้งหนึ่ง แม้ว่าเครื่องบินจะทำการประกอบเครื่องบินเสร็จสมบูรณ์ แต่ยังมีการทดสอบการบินอยู่ที่ดอนเมือง ยังมิได้มีการส่งมอบเครื่องบินไปยังกองบิน 1 นครราชสีมา กระทั่งในวันที่ 13 มิถุนายน 2521 พลอากาศเอก พะเนียง กานตรัตน์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ร่วมทำการทดสอบเครื่องบินขับไล่ F-5 F ของกองทัพอากาศ(ในที่นั่งหน้า) กับ นาวาอากาศตรี คลิงแมน นายทหารสหรัฐฯที่ทำหน้าที่ นักบินทดสอบ หลังจากนั้นภายหลังฝ่ายการช่างทำการประกอบเรียบร้อย จึงได้เริ่มทยอยส่งมอบเครื่องบิน F-5 E/F ทั้งหมดโดยทำการบินเดินทาง ไปยังฐานบินโคราช ที่ตั้งกองบิน ๑ แห่งใหม่ในวันที่ 18 มิถุนายน 2521 เพื่อบรรจุเข้าประจำการในฝูงบินขับไล่ยุทธวิธีที่ 102 กองบิน 1 โคราช
F-5E ฝูงบิน 102
จากนั้นในวันที่ 3 สิงหาคม 2522 กองทัพอากาศสหรัฐฯ ได้ลำเลียงเครื่องบิน F-5E ชุดสุดท้ายของฝูงบินแรกที่จัดซื้อเพิ่มเติม 4 เครื่อง มาให้กองทัพอากาศ โดยการบรรทุกมากับเครื่องบินลำเลียงแบบ C-141 แล้วทำการประกอบที่ดอนเมือง ก่อนจะทำการบินส่งมอบให้ฝูงบิน 102 ครบจำนวนอย่างสมบูรณ์ F-5 E/F ฝูงแรกนี้ เป็นเครื่องบินที่เป็นมาตฐานตามแบบเพื่อการส่งออกของสหรัฐฯ คือเป็นรุ่นเรโดมกลม เพียงปรับเปลี่ยนเก้าอี้ดีดตัวเป็นแบบใหม่ และปรับเรื่องของระบบเอวิโอนิกส์ภายในและระบบสื่อสารต่างๆ ให้เป็นมาตรฐานที่ใช้ในกองทัพอากาศไทย เพื่อให้เกิดความเหมาะสมทั้งการใช้งานและการซ่อมบำรุง

พล.อ.อ.อมร แนวมาลี ผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นผู้บังคับฝูงบิน F-5E คนแรกของกองทัพอากาศไทย ในพิธีบรรจุเข้าประจำการนั้น พลอากาศเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรี ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้กล่าวในพิธีครั้งนั้นซึ่งถือเป็นเกียรติ ประวัติที่ควรค่าที่จะบันทึกไว้ในหน้าหนึ่งของเรื่องเล่า 30 ปี ของเครื่องบินขับไล่แบบที่ 18 ข/ค ดังนี้
“...ผู้บัญชาการทหารอากาศ พี่น้องทหารอากาศ และท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย ข้าพเจ้ามีความยินดีและรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่ได้มีโอกาสมาเป็นประธานรับเครื่องบิน F-5 E/F ซึ่งกองทัพอากาศได้จัดซื้อมาใช้ราชการในวันนี้ ตามรายงานของผู้บัญชาการทหารอากาศนั้น ได้แสดงให้เห็นชัดเจนว่า กองทัพอากาศ ยังคงยึดหลักนิยมที่มีมาแต่อดีตโดยไม่เปลี่ยนแปลง คือ พึ่งตนเองและพัฒนากำลังทางอากาศให้มีประสิทธิภาพสูง พร้อมที่จะปกป้องราชอาณาจักรได้โดยสมบูรณ์ การจัดหาเตรียมเครื่องบินรบที่มีสมรรถนะสูงทันสมัยไว้ใช้นี้ เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับประเทศไทยเรา ปัจจุบันแม้ว่ารัฐบาลจะพยามสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบ และปรากฏว่ามีบรรยายกาศของความเป็นมิตรที่ดีขึ้นแล้วก็ตาม แต่การเตรียมกำลังรบของประเทศแต่ละประเทศก็ยังเป็นสิ่งจำเป็น แม้ประเทศที่มีประวัติศาสตร์ไม่เคยทำหรือไม่เคยเข้าสงคราม ก็ยังต้องหายุทโธปกรณ์ทันสมัยไว้ใช้ คือ เตรียมไว้ให้พร้อมเพื่อไม่ต้องรบ ซึ่งรัฐบาลจะพยายามสนับสนุนทุกวิถีทาง ในการเสริมสร้างแสนยานุภาพของกองทัพไทยให้เข้มแข็งต่อไป เพื่อให้ประชาชนของเราอุ่นใจทำมาหากินได้โดยปกติสุข และแน่ใจว่าเราจะได้ไม่ต้องรบ

ข้าพเจ้าในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และประชาชนชาวไทยคนหนึ่ง รู้สึกภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง ที่กองทัพอากาศได้มีเครื่องบินที่ทันสมัย และมีสมรรถนะสูงสำหรับปฏิบัติภารกิจหลักในการบินสกัดกั้น โดยการจัดซื้อด้วยงบประมาณของเราเองเป็นฝูงบินแรกของประเทศไทย ข้าพเจ้าขอขอบคุณท่านรองประธานสภานโยบาย พลอากาศเอก กมล เดชะตุงคะ ซึ่งเป็น ผู้ริเริ่มในการจัดหา ท่านผู้บัญชาการทหารอากาศ คณะกรรมการโครงการเครื่องบินขับไล่สกัดกั้นพร้อมจรวดนำวิถีอากาศสู่อากาศ และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายที่ได้ร่วมกันดำเนินการจัดหาเครื่องบินขับไล่สกัดกั้น F-5 E/F จนประสบความสำเร็จลุล่วงมาด้วยดีไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย บัดนี้ เป็นเวลาอันอุดมด้วยมงคลฤกษ์แล้ว ข้าพเจ้าจะประกอบพิธีเจิมและคล้องพวงมาลัยแก่เครื่องบิน F-5 E/F และรับเข้าประจำการ ขออานุภาพแห่งคุณพระศรีรัตนตรัย และพระบรมเดชานุภาพแห่งองค์จอมทัพไทย ได้โปรดคุ้มครองรักษาให้เครื่องบิน F-5 E/F ที่กองทัพอากาศจัดซื้อมาครั้งนี้ รวมทั้งนักบินและเจ้าหน้าที่ประจำเครื่องบินทุกฝ่าย จงแคล้วคลาดจากภัยพิบัติ อุปัทอันตรายทั้งปวง เพื่อยืนยงคงอยู่เป็นกำลังทางอากาศของกองทัพไทย และพร้อมที่จะเสริมสร้างความสันติสุขให้ประเทศชาติ....”
(40ปี สี)เครื่องบินขับไล่แบบที่ 18 ข (F-5E) 79-1697 หมายเลข 21128 เป็น F-5E รุ่นหัวแบน
ผมคิดว่าบทความนี้น่าจะรวมประวัติศาสตร์ของเครื่องบิน F-5E/F ในกองทัพอากาศไทยไว้ครบถ้วน เนื่องจากเขียนโดยเจ้าหน้าที่ของกองทัพอากาศโดยตรง ก็ต้องขอขอบคุณ พ.อ.อ.รัชต์ รัตนวิจารณ์ เจ้าของบทความไว้ ณ ที่นี้ด้วย

No comments:

Post a Comment