เฟซบุ้คเพจ

เพิ่มเติมอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับช่องสื่อสารผ่านเฟสบุค https://www.facebook.com/monsoonphotonewspage/ ด้วยข่าวสั้นจากสำนักข่าวต่างๆ ทั่วโลก รวดเร็วทันเหตุการณ์

Sunday, January 17, 2016

เครื่องบินทะเลของไทย

ปีใหม่นี้เริ่มกันในเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับโพสเมื่อปลายปีที่แล้วจาก "อาวุธจากประเทศญี่ปุ่น" (ย้อนไปอ่านกันได้ที่ http://monsoonphotonews.blogspot.com/2015/11/blog-post.html)

เรื่องเกี่ยวเนื่องที่จะมานำเสนอในวันนี้ก็คือ เครื่องบินทะเลของไทย
เนื้อหาจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเครื่องบินทะเลของไทย ที่เคยมีใช้ในอดีต ก็คงต้องศึกษาความเป็นมาของการบินราชนาวีกัน ผมได้คัดลอกประวัติศาสตร์จากกองการบินทหารเรือ (http://www.thaiflynavy.org/fly/) มาประกอบไว้ด้วย
แนวความคิดในการจัดตั้ง กองการบินทหารเรือ หรือกำลังอากาศนาวีนั้น เริ่มเมื่อ ปี พ.ศ.๒๔๖๔ เมื่อ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เสนาธิการทหารเรือ ทรงเสนอความเห็นต่อที่ประชุม สภาบัญชาการ กระทรวงทหารเรือ ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2464 ว่า สมควรตั้งกองบินทะเลขึ้นโดยใช้สัตหีบเป็นถาน(ฐานทัพ)และควรเริ่มตั้งต้นซื้อเครื่องบินทะเลเพียง 2 ลำก่อน 
กับควรให้นายนาวาเอก พระประติยัตินาวายุทธ (ต่อมาเป็น พลเรือโท พระยาราชวังสัน) ซึ่งกำลังดูงาน อยู่ในยุโรปในขณะนั้นดูระเบียบการจัดเครื่องบินทะเลไว้ด้วย สำหรับนักบินนั้นควรเลือกนายทหารที่เหมาะสมไปฝากฝึกหัดบินที่ กรมการบินทหารบก  
สภาบัญชาการ ได้มีมติอนุมัติ ข้อเสนอนี้ เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ.2464 และมอบให้ เสด็จในกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทรงจัดทำโครงการ ในเรื่องนี้ต่อไป 
กระทรวงทหารเรือในสมัยของสมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎางค์ภานุพันธ์ มีความดำริที่จะตั้ง แผนกการบินฝ่ายทหารเรือ อย่างเช่นอารยประเทศฝ่ายตะวันตกเพราะระยะเวลาอันยาวนาน 10 กว่าปีที่เกิดอากาศยานขึ้น พิสูจน์ได้ดีว่า เครื่องบินเป็นกำลังสนับสนุนที่สำคัญยิ่งของการรบทางเรือ ดังที่ปรากฏเห็นชัดเจนในมหาสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่ออากาศยานได้เริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญในการป้องกันประเทศ ซึ่งก็เป็นเพียงป้องกันรักษาพื้นที่บางแห่งเท่านั้น  
สำหรับการปฏิบัติการทางเรือก็มีความจำเป็นต้องใช้อากาศยานเข้าร่วมปฏิบัติการกับเรือรบ เพื่อป้องกันรักษาพื้นที่ทางทะเล หรือชายฝั่งทะเล โดยอากาศยานจะมีบทบาทสำคัญในการลาดตระเวนทางทะเล โจมตี คุ้มกัน และช่วยเหลือผู้ประสบภัย ซึ่งอากาศยานของหน่วยบินบกไม่สามารถสนับสนุนปฏิบัติการห่างจากฝั่งได้ ประกอบกับเครื่องบินบกมีจำนวนน้อยยังไม่เพียงพอแก่การป้องกันรักษาพื้นที่ทางบก และในการปฏิบัติการร่วมกับเรือรบ นักบินจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจในยุทธวิธีของสงครามทางเรือโดยเฉพาะ ดังนั้นอากาศยานที่จะปฏิบัติการร่วมกับเรือรบได้จะต้องสามารถขึ้นลงในทะเลเพื่อรักษาการส่งกำลังบำรุงเพิ่มเติมจากเรือในทะเลให้สามารถติดตามเรือไปปฏิบัติการได้ทุกแห่งหน ( สมัยที่ยังมีฐานะเป็นกระทรวงทหารเรือ ) จึงมีแนวความคิดที่จะตั้งหน่วยบินนาวีขึ้นในกองทัพเรือ  
สำหรับปฏิบัติร่วมกับเรือรบเพื่อป้องกันประเทศทางทะเล แนวความคิดนี้ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงกลาโหมเป็นอย่างดียิ่ง กองทัพเรือจึงได้เริ่มเตรียมการ ด้วยการส่งนายทหารเรือจำนวน 2 นาย ( เรือเอก หลวงพลสินธวาณัติก์ และ เรือเอก เจริญ ทุมมานนท์ ) ไปรับการฝึกหัดศึกษาวิชาการบินและการตรวจการณ์ จากกรมอากาศยานทหารบก หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำไปทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยด้วย รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจำเป็นต้องประหยัดการใช้จ่ายงบประมาณอย่างมาก จึงเป็นเหตุให้ “ การบินทหารเรือ ” ไม่ได้รับการดำเนินการสืบต่อมาจากปฐมดำริ และชะงักอยู่ในสมัยราชาธิปไตย 
เมื่อ 24 พฤศจิกายน 2476 เสนาธิการทหารเรือ ( พลเรือตรี พระยาราชวังสัน ) กับ เจ้ากรมอากาศยานทหารบก ( พลตรี พระยาเฉลิมอากาศ ) ได้ร่วมกันออกสำรวจชายฝั่งทะเลในอ่าวไทย เพื่อหาข้อมูลต่าง ๆ ในการบินและสร้างฐานบิน ผลของการสำรวจได้พิจารณาสถานที่บริเวณอ่าวสัตหีบ ( จุดเสม็ด ) อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ซึ่งเหมาะสมที่จะสร้างเป็นสนามบินและที่ทำการของหน่วยบินนาวี และพิจารณาสถานที่บริเวณจังหวัดจันทบุรี สำหรับสร้างเป็นสนามบินอีกแห่งหนึ่งด้วย  
ต่อมากองทัพเรือได้จัดส่งนายทหารเรือไปรับการฝึกหัดศึกษาวิชาการบินจากกรมอากาศยานทหารบกเพิ่มเติมขึ้นอีก จนกระทั่งมีจำนวนนักบินทหารเรือมากพอสมควร แต่ก็ยังไม่สามารถสร้างหน่วยบินนาวีขึ้นในกองทัพเรือได้ เนื่องจากมีอุปสรรคข้อขัดข้องหลายประการ นายทหารเรือที่ได้รับการฝึกบินมาแล้วก็คงกลับมารับราชการอยู่ในกองทัพเรือตามปกติต่อไป และกองทัพเรือก็ได้เตรียมการต่าง ๆ อยู่เรื่อยมา 
พ.ศ.2481 กองทัพเรือได้จัดตั้ง หมวดบินทะเล ขึ้นในสังกัดกองเรือรบ โดยมีเครื่องบินแบบวาตานาเบ จำนวน 6 เครื่อง มีฝูงบินอยู่ที่ ตำบลจุกเสม็ด อ่าวสัตหีบ กระทรวงกลาโหม ได้แต่งตั้ง มจ.รังสิยากร อาภากร มาดำรงตำแหน่ง ผู้บังคับหมวดบินทะเล กองเรือรบ กองทัพเรือ  
ในช่วงปี พ.ศ.2485 กระทรวงกลาโหม ได้ยกฐานะหมวดบินทะเล ขึ้นเป็น กองบินทหารเรือ สังกัดกองเรือรบ ครั้นเมื่อเกิด สงครามมหาเอเซียบูรพา กองทัพเรือ ได้สั่งซื้อเครื่องบินแบบ นากาชิมา เพิ่มขึ้นอีก 27 เครื่อง และสั่งซื้อเครื่องบิน แบบ ซีโร่ จำนวน 3 เครื่อง เพื่อเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร ปฏิบัติการ คุ้มกัน ตรวจการณ์ และช่วยเหลือผู้ประสบภัย ในอ่าวไทย ตลอดสงครามนี้

*******************************

ในส่วนต่อไปนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับเครื่องบินทะเล (sea plane) ญี่ปุ่น ที่เคยประจำการในกองการบินทหารเรือ ของราชนาวีไทย โดยเนื้อความได้รับความอนุเคราะห์จากเฟซบุ๊ค Siam aviation graphics (เข้าไปเยี่ยมชมกันได้ที่ www.facebook.com/siamaviationgraphics/)


การจัดตั้งกองการบินของทหารเรือ เริ่มมาตั้งแต่ปี 2464 เมื่อ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทรงเสนอแนวความคิดในการจัดตั้งต่อกระทรวงทหารเรือ เพื่อสนับสนุนเรือรบ และรักษาพื้นที่ทางทะเล ต่อมาจึงพิจารณาเพื่อจัดสร้างสนามบินสำหรับหน่วยบินนาวี โดยสำรวจความเหมาะสมของอ่าวสัตหีบ ชลบุรี และจันทบุรี 

ในเบื้องต้นได้ส่งทหารเรือไปรับการฝึกบินกับกรมอากาศยาน ทหารบก จนมีนักบินเพียงพอ
ปี 2481 กองทัพเรือได้ว่าจ้างบริษัท มิตซุย บุสซัน ไกซา ซึ่งเป็น ตัวแทน ของ บริษัท Watanabe Iron Work ในประเทศญี่ปุ่น สร้างเครื่องบินทะเลแบบ "วานาตาเบ" Watanabe WS 103 ( บรน.๑) จำนวน 6 ลำ
หมายเหตุ : บรน.1 ย่อมาจาก (เครื่องบิน) แบบราชนาวี 1

วาตานาเบ WS-103
ในช่วงเวลานั้น กองทัพเรือได้สั่งต่อเรือจำนวนหนึ่ง โดยมีเรือสลุป (เรือฝึกหัดนักเรียนทหารเรือ) 2 ลำ คือ รล.แม่กลอง และ รล.ท่าจีน ซึ่งสามารถบรรทุกเครื่องบินทะเลได้ 1 เครื่อง

เครื่องบินแบบ WS 103 จึงได้รับการประจำการบนเรือทั้งสอง

ภาพนี้เป็นโมเดล รล.แม่กลอง ( ผลงานของ Nye NAVA) จะเห็นปั้นจั่นสำหรับยก WS 103 ขึ้น-ลงน้ำ ชัดเจน

ส่วนภาพ WS 103 บนอนุสรณ์ รล.แม่กลอง พิพิธภัณฑ์เรือรบของราชนาวี ป้อมพระจุลจอมเกล้า ปากน้ำ สมุทรปราการ แต่ที่ผมเคยไปชม ไม่มี WS 103 แล้วนะครับ ถ้าท่านใดยังไม่เคยไปชม เรียนเชิญครับ สามารถขึ้นชมบนเรืออย่างใกล้ชิด
WS-103 บนอนุสรณ์ เรือหลวงแม่กลอง
นอกจากนี้ หมวดบินทะเลได้ขอยืมเครื่องบินฝึกแบบ 86 แอฟโร่ (Avro 504N) จากกองทัพอากาศมา 2 เครื่อง โดยนำมา ดัดแปลง ติดทุ่น สำหรับ ขึ้น-ลง ในทะเล และนำมา ใช้ฝึก ตั้งแต่ พ.ศ. 2482 เป็นต้นไป
บฝ.86 Avro
ต่อมาได้เกิดกรณีพิพาทอินโดจีนขึ้น เครื่องบินเหล่านี้ได้เข้าร่วมการปฏิบัติการทางเรือ ตลอดระยะเวลา ที่เกิดกรณีพิพาท ที่สำคัญ คือ การรบ ที่เกาะช้าง เมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2484

ในปีพ.ศ.2482 อยู่ในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา กองทัพเรือได้สั่งซื้อเครื่องบินทะเลเพิ่มเติมอีก 18 เครื่อง เป็นแบบ E-8 N-1 ของบริษัท นากาชิมา (Nakajima) ราชนาวีญี่ปุ่นเรียกว่า Type 95 และประเทศพันธมิตรระหว่าง สงครามโลกครั้งที่ 2 เรียกว่า "Dave"
เครื่องบินรุ่นนี้มาถึงประเทศไทยเมื่อ พ.ศ.2484 กองทัพเรือ เรียกว่า "แบบราชนาวี 2" (บรน.๒)

และมี 2 ลำที่ถูกฝ่ายสัมพันธมิตรโจมตีเสียหายที่ อ่าวฉลอง ภูเก็ต ต่อมาสิ้นปีพ.ศ.2485 มีการสั่งซื้อเพิ่มอีก 27 ลำ
การทาสีเครื่อง WS-103

การทาสีเครื่อง WS-103
ภาพ "Dave"ในส่วนของจักรพรรดินาวีของญี่ปุ่น ก็มีการปฏิบัติการในสงครามแปซิฟิคกับสัมพันธมิตร
Dave ของจักรพรรดินาวีญ๊่ปุ่น กำลังทิ้งระเบิด
แบบสุดท้าย ที่แนะนำ คือ AICHI E13A Type Zero Model 11 "Jake"(บรน.๓) ปลายปีพ.ศ.2485 มีการสั่งซื้อจำนวน 3 ลำ (งวดเดียวกับที่สั่งซื้อ บรน.2 จำนวน 27 ลำ)

ภาพ แสดงการทำสีลำตัวเครื่องในแบบสีเขียวเช่นเดียวกับเครื่องของญี่ปุ่น


ภาพ บรน.๓ ในทะเลไทย

ภาพ "Jake" จักรพรรดินาวีญี่ปุ่น ในสมรภูมิแปซิฟิก
 

ภาพ Jake ถูกยึดโดยกองทัพอังกฤษ (ภาพจาก Imperial War Museums)

ภาพสุดท้าย โมเดลที่สมจริง ของ Jake

เครื่องบินที่ประจำการในราชนาวีไทยยังมีอีกหลายแบบนะครับ ที่แนะนำครั้งนี้เป็นแบบที่ผลิตจากญี่ปุ่นทั้งหมดครับ ภายหลังสงครามมหาเอเชีย ก็จะมีแบบที่ผลิตจากยุโรปและอเมริกาครับ

*********************************


เมื่อสิ้นสุดสงครามมหาเอเชียบูรพาเมื่อ พ.ศ.2488 กองทัพเรือก็เร่งพัฒนากองบินทหารเรือ ด้วยการปรับปรุงสนามบิน ซื้อเครื่องบินสื่อสารขนาดเล็กแบบ แอล. 4 จำนวนหนึ่งและเครื่องบินฝึกแบบ ที. 6 จำนวน 12 เครื่องจากสหรัฐฯ เครื่องบินฝึกแบบไทเกอร์มอธ จากอังกฤษ จำนวน 30 เครื่อง เครื่องบินโจมตีแบบแฟรี่ ไฟร์ฟลาย จำนวนหนึ่ง เครื่องบินสะเทินน้ำสะเทินบกแบบกรัมมันวิตเยียน จำนวน 6 เครื่อง เครื่องบินสื่อสาร แบบโบนันซ่า และ ไปเปอร์คับสเปเชียล อีกจำนวนหนึ่ง นอกจากน ี้ยังมีแผนจะซื้อเฮลิคอปเตอร์ สำหรับเป็นพาหนะช่วยเหลือชีวิตในทะเล
Grumman G-44 Widgeon
วันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ.2503 จอมพลเรือ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้อนุมัติหลักการให้กองทัพเรือ มีหน่วยบินและเครื่องบิน ไว้สนับสนุน การป้องกันประเทศทางทะเลได้ รวมทั้งมีบัญชาอนุญาตให้กองทัพเรือ รับโครงการช่วยเหลือจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้
และในที่สุดเมื่อ 17 มิถุนายน พ.ศ.2505 เจ้าหน้าที่กองทัพเรือสหรัฐฯ ได้นำเครื่องบินสะเทินน้ำสะเทินบก แบบกรัมมัน  เอชยู 16 ดี แอลบาทรอสส์ ชนิด ๒ เครื่องยนต์ จำนวน ๒ เครื่อง มาส่งที่สนามบินดอนเมือง
Grumman HU-16 Albratoss
ต่อมาพ.ศ.2511 สหรัฐฯ ได้มอบ เครื่องบินสะเทินน้ำสะเทินบก แบบ  HU-16B Albratoss ให้กับกองทัพเรืออีก 1 เครื่อง

วันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2521 จัดหาเครื่องบินสะเทินน้ำสะเทินบก แบบ CL-215 จำนวน 2 เครื่อง เพื่อใช้ในการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล และ ดับเพลิง ทางอากาศ ประจำการ ในกองทัพเรือ
Canadair CL-215 Scooper
จากเส้นทางประวัติศาสตร์ของเครื่องบินทะเลไทย ปัจจุบันกองทัพเรือยังมีเครื่องบินสะเทินน้ำสะเทินบก CL-215 จำนวน 1 เครื่องที่สามารถใช้การได้ แต่ก่อนที่บ.CL-215 จะกลับมาบินได้อีกครั้งในปีพ.ศ.2553 ก็ถูกจอดรอการซ่อมบำรุงกว่าสิบปี


ปิดท้ายกันด้วยแนวคิดในการมีใช้เครื่องบินทะเล
สำหรับการปฏิบัติการทางเรือก็มีความจำเป็นต้องใช้อากาศยานเข้าร่วมปฏิบัติการกับเรือรบ เพื่อป้องกันรักษาพื้นที่ทางทะเล หรือชายฝั่งทะเล โดยอากาศยานจะมีบทบาทสำคัญในการลาดตระเวนทางทะเล โจมตี คุ้มกัน และช่วยเหลือผู้ประสบภัย ...........และในการปฏิบัติการร่วมกับเรือรบ นักบินจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจในยุทธวิธีของสงครามทางเรือโดยเฉพาะ ดังนั้นอากาศยานที่จะปฏิบัติการร่วมกับเรือรบได้จะต้องสามารถขึ้นลงในทะเลเพื่อรักษาการส่งกำลังบำรุงเพิ่มเติมจากเรือในทะเลให้สามารถติดตามเรือไปปฏิบัติการได้ทุกแห่งหน 

No comments:

Post a Comment